ทั่วโลกรุมประณามรัฐประหารเมียนมา

2021-02-02 07:05:29

ทั่วโลกรุมประณามรัฐประหารเมียนมา

Advertisement


สหรัฐเป็นผู้นำของรัฐบาลทั่วโลกเรียกร้องให้เมียนมาฟื้นฟูและกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในวันจันทร์ หลังกองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจ พร้อมจับกุมตัวนางออง ซาน ซู จี ผู้นำประเทศและนักการเมืองคนอื่น ๆ

โดยเจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว ระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า สหรัฐ “จะใช้มาตรการเด็ดขาดต่อผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบ หากขั้นตอนเหล่านี้ไม่ถูกยกเลิกไป เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า สหรัฐต่อต้านความพยายามใด ๆ ในการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ของนางซู จี ชนะอย่างถล่มทลาย แต่จุดชวนให้เกิดข้อกล่าวหาจากพรรคการเมืองที่กองทัพให้การสนับสนุนว่า มีการโกงเลือกตั้ง

ก่อนหน้านี้ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ก็เรียกร้องให้กองทัพเมียนมา ปล่อยตัวเจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้นำสังคมพลเรือนทั้งหมด และเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนเมียนมา ที่ได้แสดงออกในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา



ก่อนการเกิดรัฐประหารครั้งนี้ สหรัฐ พร้อมด้วยหลายชาติตะวันตก เรียกร้องให้กองทัพ “ยึดมั่นบรรทัดฐานของประชาธิปไตย” ในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 29 มกราคม ซึ่งมีขึ้นขณะที่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ขู่ “ฉีก” รัฐธรรมนูญของประเทศ

ส่วนอังกฤษ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ประณามรัฐประหารและการคุมขังนางซู จี โดยเขาทวีตข้อความว่า คะแนนเสียงของประชาชนต้องได้รับความเคารพและปล่อยตัวผู้นำพลเรือน ด้านจีน ซึ่งปกติมักต่อต้านการแทรกแซงของสหประชาชาติ หรือยูเอ็นในเมียนมา เรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันแก้ปัญหาความแตกต่าง โดยหวัง เวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน แถลงข่าวว่า จีนในฐานะเป็นมิตรประเทศของเมียนมา หวังว่า ฝ่ายต่าง ๆ ในเมียนมาจะแก้ปัญหาความแตกต่างได้อย่างเหมาะสมภายใต้รัฐธรรมนูญและกรอบของกฎหมาย เพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม



นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น ประณามอย่างรุนแรงต่อการควบคุมตัวนางซู จี, ประธานาธิบดีวิน มินต์ และผู้นำคนอื่น ๆ และโฆษกยูเอ็น นายสเตฟาน ดูจาร์ริซ ระบุในแถลงการณ์ว่า พัฒนาการเหล่านี้ ยิ่งฉุดดึงการปฏิรูปประชาธิปไตยในเมียนมาให้ตกต่ำ

ญี่ปุ่นเรียกร้องให้กองทัพเมียนมา ปล่อยตัวนางซู จี และฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยประทรวงต่างประเทศระบุในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า เราขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรวมทั้งนางซู จี ที่ถูกควบคุมตัว” พร้อมเรียกร้องให้กองทัพฟื้นฟูระบบการเมืองประชาธิปไตยในเมียนมาโดยเร็ว

สหภาพยุโรป หรืออียู โดยชาร์ลส์ มิเชล ประธานมนตรียุโรป หรืออีซี ประณามอย่างรุนแรงต่อรัฐประหารดังกล่าว โดยอดีตนายกรัฐมนตรีเบลเยียมผู้นี้ ทวีตข้อความว่า ต้องเคารพผลการเลือกตั้ง และจำเป็นต้องรื้อฟื้นกระบวนการประชาธิปไตย

กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ทั้งนอร์เวย์, สวีเดน และเดนมาร์ก ต่างประณามการยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาโดยกระทรวงต่างประเทศนอร์เวย์ ทวีตข้อความว่า เราเรียกร้องให้ผู้นำกองทัพยึดมั่นบรรทัดฐานประชาธิปไตย และเคารพผลการเลือกตั้ง ส่วนแอนน์ ลินด์ รัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดน กล่าวว่า บรรดาผู้นำพลเรือน และคนอื่น ที่ถูกควบคุมตัวอย่างผิดกฎหมาย ต้องได้รับการปล่อยตัวทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ขณะที่ เจฟฟ์ โคฟอด รัฐมนตรีต่างประเทศเดนมาร์ก กล่าวว่า กองทัพภายใต้การควบคุมของพลเรือนเป็นหลักการสำคัญของประชาธิปไตย



แคนาดา โดยบ็อบ แร เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำยูเอ็น ทวีตข้อความว่า กองทัพเมียนมาเขียนรัฐธรรมนูญมาแบบนี้ ก็ต้องปฏิบัติตามนี้ รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2551 ถูกออกแบบมาเพื่อรับประกันว่า อำนาจของกองทัพได้รับการปกป้องและรักษาไว้อย่างลึกซึ้ง

ออสเตรเลีย โดยมารีส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศ ระบุว่า ออสเตรเลียเรียกร้องให้กองทัพเคารพหลักนิติธรรม, แก้ปัญหาพิพาทผ่านกลไกของกฎหมายและปล่อยตัวบรรดาผู้นำพลเรือนทั้งหมด และคนอื่น ๆ ที่ถูกควบคุมตัวอย่างผิดกฎหมายทันที

อินเดีย หนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน กระทรวงต่างประเทศแถลงว่า อินเดียเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อพัฒนาการในเมียนมา อินเดียแน่วแน่มั่นคงในการสนับสนุนกระบวนการผองถ่ายประชาธิปไตยในเมียนมา เราเชื่อว่า ต้องยึดมั่นตามหลักนิติธรรมและกระบวนการประชาธิปไตย



รัฐบาลตุรกี ซึ่งก็เคยตกเป็นเป้าของกองทัพในการยึดอำนาจในปี 2559 ประณามการยึดอำนาจและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักการเมือง โดยกระทรวงต่างประเทศตุรกี ระบุในแถลงการณ์ว่า เราประณามอย่างรุนแรงต่อการยึดอำนาจโดยกองทัพเมียนมา ตุรกีต่อต้านการยึดอำนาจทุกรูปแบบ และเราหวังว่าจะมีการปล่อยตัวผู้นำ, นักการเมืองและพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ทันที

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน โดยกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ แสดงความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดในเมียนมา และหวังว่าทุกฝ่ายจะ “ยับยั้งชั่งใจ” ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ก็แสดงความกังวล เรียกร้องให้อดทนอดกลั้นเช่นกัน แต่นายแฮร์รี โรเก โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็น “กิจการภายใน” ของเมียนมา ความกังวลแรกของฟิลิปปินส์ คือความปลอดภัยของประชาชนฟิลิปปินส์ และกองทัพฟิลิปปินส์ก็เตรียมพร้อมในกรณีที่ต้องไปนำพวกเขากลับบ้านทั้งทางอากาศและทางเรือ หากจำเป็น