เจ้าหน้าที่กองทัพเรือบังกลาเทศ จะโยกย้าย ผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮีนจา อีกประมาณ 2,000 ถึง 3,000 คน จากค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองค็อกซ์บาซาร์ ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ไปตั้งรกรากใหม่บนเกาะร้างห่างไกล ในอ่าวเบงกอล ในวันศุกร์ (29 ม.ค.) ซึ่งจะเป็นการโยกย้ายชุดที่ 3 ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากองค์กรสิทธิมนุษยชน ซึ่งระบุว่าเกาะดังกล่าว เสี่ยงภัยจากพายุและน้ำท่วม
บังกลาเทศโยกย้ายชาวโรฮีนจา ที่อพยพข้ามแดนจากเมียนมา ไปแล้ว 2 ชุด ประมาณ 3,500 คน ไปยังเกาะพาซันชาร์ นับตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา จากค่ายผู้ลี้ภัย ในเมืองค็อกซ์บาซาร์ ซึ่งมีชาวโรฮีนจาอาศัยอยู่ประมาณ 1 ล้านคน ในกระท่อมทรุดโทรมตามเนินเขา
เกาะพาซันชาร์ขนาดพื้นที่ 39 ตารางกิโลเมตร เพิ่งโผล่จากใต้ทะเล เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว อยู่ห่างจากท่าเรือเมืองจิตตะกอง ชายฝั่งที่ใกล้ที่สุด ประมาณ 60 กิโลเมตร ชาวโรอีนจาที่ถูกโยกย้ายไปอยู่ที่นั่น จะไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกจากเกาะ หากไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลบังกลาเทศ
นาวาเอกพิเศษ อับดุลเลาะห์ อัล มามุน เชาดูรี นายทหารกองทัพเรือบังกลาเทศ เผยเมื่อวันพุธ ว่า ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาชุดที่ 3 จะถูกนำพาออกจากค่ายเมืองค็อกซ์บาซาร์ ขึ้นรถไปยังเมืองท่าจิตตะกอง ในวันพฤหัสบดี เพื่อนั่งเรือไปยังเกาะพาซันชาร์ ในวันถัดไป
นาวาเอกพิเศษเชาดูรี กล่าวว่า การโยกย้ายเป็นความสมัครใจ และเป็นผลดีต่อชาวโรฮีนจา เนื่องจากค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองค็อกซ์บาซาร์แออัด และเต็มไปด้วยปัญหา รวมถึงอาชญากรรม ยาเสพติด โรคภัยไข้เจ็บ และความอดอยาก นอกจากนั้นเกาะพาซันชาร์ยังไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ตามที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนแสดงความวิตก เนื่องจากทางการบังกลาเทศได้สร้างแนวเขื่อนกั้นน้ำ ขนาดความสูง 2 เมตร ระยะทาง 12 กิโลเมตร ตามแนวชายฝั่ง เพื่อป้องกันไว้แล้ว นอกเหนือจากบ้านพักรองรับประชาชนประมาณ 100,000 คน รวมทั้งศูนย์ไซโคลน และโรงพยาบาล.