วัคซีนโควิด-19 ‘ส่วนรวม’ ได้ช้า-ไม่เท่าเทียม

2021-01-27 14:00:05

วัคซีนโควิด-19 ‘ส่วนรวม’ ได้ช้า-ไม่เท่าเทียม

Advertisement

เจนีวา, 26 ม.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันอังคาร (26 ม.ค.) องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวเตือนว่าข้อตกลงซื้อขายวัคซีนต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ระดับทวิภาคีระหว่างนานาประเทศและกลุ่มบริษัทผู้ผลิต ส่งผลเสียต่อ โคแวกซ์ (COVAX) โครงการจัดหาวัคซีนระดับโลกขององค์การฯ ซึ่งมุ่งให้ประชาชนทั่วโลกเข้าถึงวัคซีนอย่างรวดเร็วและเท่าเทียม

“ปัจจุบันมีการลงนามข้อตกลงวัคซีนระดับทวิภาคีอย่างน้อย 56 ฉบับ ซึ่งสร้างความแตกแยกในตลาด บีบบังคับให้แต่ละประเทศต้องแข่งขันกัน รวมถึงทำให้วัคซีนมีราคาสูงขึ้น” ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การฯ ระบุ

“วัคซีนชาตินิยมเป็นแนวคิดที่ทำลายตัวเองและไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศยากจนและเปราะบางที่สุดตกอยู่ในอันตราย” ทีโดรสกล่าว “การอุบัติของเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ที่ระบาดได้เร็วยิ่งทำให้การฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วและเท่าเทียมมีความสำคัญมากขึ้น”




ทีโดรสระบุว่าในบรรดา 50 ประเทศที่เริ่มฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 แล้ว เป็นประเทศร่ำรวยเกือบทั้งหมด และร้อยละ 75 ของวัคซีนทั้งหมดถูกจัดส่งไปยัง 10 ประเทศเท่านั้น

“รัฐบาลแต่ละประเทศต้องการฉีดวัคซีนให้แรงงานสุขภาพและคนชราก่อน นั่นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่สิ่งที่ไม่ถูกต้องคือผู้ใหญ่อายุน้อยที่สุขภาพดีในประเทศร่ำรวยกลับได้รับวัคซีนก่อนแรงงานสุขภาพและผู้สูงวัยในประเทศยากจน”



“สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ผลิตวัคซีนส่วนมากให้ความสำคัญกับการยื่นขออนุมัติวัคซีนในประเทศร่ำรวยและทำกำไรได้สูงสุดก่อน แทนที่จะยื่นขออนุมัติต่อองค์การฯ” ทีโดรสกล่าว “พูดตรงๆ คือมีหลายประเทศซื้อวัคซีนในปริมาณที่ มากกว่าความจำเป็น”

ทีโดรสเรียกร้องกลุ่มผู้ผลิตวัคซีนที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และคุณภาพระดับนานาชาติ ให้ความสำคัญกับการยื่นขออนุมัติวัคซีนเพื่อการใช้งานฉุกเฉินกับองค์การฯ ก่อน โดยเน้นย้ำว่าโคแวกซ์ต้องการ “วัคซีนเพิ่มเติมโดยด่วน ไม่ใช่วัคซีนเหลือๆ จากอีกหลายเดือนข้างหน้า”

“ปี 2021 อาจเป็นปีแห่งความหวังใหม่ที่เราจะสามารถก้าวข้ามช่วงเวลายากลำบากจากโรคระบาดใหญ่ แต่เราจะไม่สามารถคว้าชัยชนะได้เลยหากทุกประเทศไม่ร่วมมือกัน ความสามัคคีทั่วโลกเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เราเดินต่อไปข้างหน้าได้”