ปชป.ถามนายกฯเข้าใจประชาธิปไตยแค่ไหน

2017-11-08 17:30:03

ปชป.ถามนายกฯเข้าใจประชาธิปไตยแค่ไหน

Advertisement

รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตคำถาม 6 ข้อของนายกรัฐมนตรี ว่าเข้าใจประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. นายณัฎฐ์ บรรทัดฐาน รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช
ตั้ง 6 คำถามเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ ว่า ไม่แน่ใจว่า นายกรัฐมนตรีเข้าใจถึงกระบวนการประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด ว่าพรรคการเมืองสามารถเกิดขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลาตามกลุ่มคนที่มีความคิดทางการเมืองในลักษณะเดียวกันจะรวมกลุ่มกันตั้งพรรคการเมือง และปรากฏการณ์นี้มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะหลังปฏิวัติรัฐประหารเรามักจะเห็นทหารเก่ากลายเป็นนักการเมืองใหม่อยู่เสมอ แต่บุคคลเหล่านั้นสามารถทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างที่ควรจะเป็นได้หรือไม่ และการที่ คสช. หรือ นายกรัฐมนตรีจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดก็ได้นั้น เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จะเดินเข้าไปกาเลือกพรรคการเมืองใดก็ได้ คำถามนี้ทำให้ย้อนนึกไปถึงพรรคเสรีมนังคศิลา และการเลือกตั้งเมื่อปี2500



นายณัฎฐ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นคือเมื่อ คสช.ยังคงอยู่ และสนับสนุนพรรคการเมืองใดก็ตาม หากพรรคการเมืองที่ คสช. หรือ นายกรัฐมนตรี จะสนับสนุน เกิดพ่ายแพ้หรืออาจบริหารประเทศได้เลวทรามชั่วช้าในสายตาประชาชน จะมีหลักประกันใดที่จะยืนยันว่า คสช. จะไม่ลากปืนใหญ่ รถถังออกมาเพื่อเป็นเกราะป้องกันให้พรรคการเมืองที่ท่านสนับสนุน

“การที่ นายกรัฐมนตรีพูดในทำนองว่า ประชาชนมองเห็นสิ่งดีๆ ที่รัฐบาลนี้ได้ดำเนินการนั้น ไม่แน่ใจว่าแนวทางการพัฒนาชุมชนสร้างฝายแม่ผ่องพรรณ การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยการตั้งบริษัทในบ้านพักทหาร รวมถึงการป้องกันประเทศด้วยการได้เรือดำน้ำมาใช้ประจำการในกองทัพเรือ ยังไม่นับรวมผลงานแหล่งท่องเที่ยวใหม่อย่างอุทยานราชภักดิ์ การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างมีประสิทธิภาพ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ประชาชนเกือบทั้งประเทศเห็นชอบด้วยหรือไม่ และหากนายกรัฐมนตรี จะเรียกหาธรรมาภิบาลนั้น ส่วนตัวก็ขอเรียนว่าทุกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีกลไกการตรวจสอบฝ่ายบริหารรอบด้าน แต่รัฐบาล คสช.มีอะไรบ้างที่เป็นกลไกธรรมาภิบาล”นายณัฎฐ์ กล่าว



นายณัฎฐ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกาคที่มีนักการเมืองบางกลุ่ม หรือพรรคการเมืองบางพรรคที่ออกมาเคลื่อนไหวด่า คสช. ด่ารัฐบาล ก็ยังมีนักการเมืองจำนวนมากที่สงบปากสงบคำไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น หรือให้ร้ายรัฐบาลอย่างที่ นายกรัฐมนตรีกล่าวหา ส่วนตัวมองว่า หลายความเห็นจากนักการเมืองที่ดีที่เขามองเห็นปัญหา และอยากจะชี้ช่องทางให้รัฐบาลแก้ไขก็น่าจะถือเป็นความปรารถนาดีจากฟากฝั่งนักการเมืองที่มอบให้รัฐบาลในเวลานี้