สธ.ยันจัดหาวัคซีนโควิด-19 ไม่ล่าช้า

2021-01-19 23:20:39

สธ.ยันจัดหาวัคซีนโควิด-19 ไม่ล่าช้า

Advertisement

สธ.แจงจัดหาวัคซีนโควิด -19 ไม่ล่าช้า ยึดหลักปลอดภัย มีคุณภาพ ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่าง "สยามไบโอไซเอนซ์-แอสตร้าเซนเนกา" เพราะคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ มีศักยภาพสูงในการผลิตภาวะเร่งด่วน ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ดำเนินการในราคาทุน

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกันแถลงข้อเท็จจริงการจัดหาวัคซีนโควิด -19

"อัจฉริยะ"ปูด 2 ซิมฆ่า "น้องชมพู่" แลกตัดเหล็กไหล ได้เงินไปกว่า 10 ล้าน

"อัจฉริยะ"ชี้คน 2 ซิมฆ่า "น้องชมพู่"

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่มีต่อการแพทย์และการสาธารณสุข ที่ทรงวางรากฐานและพัฒนาในด้านต่างๆ ไม่น้อยหน้าประเทศใดในโลก รวมถึงพระราชทานทรัพย์ในวาระต่างๆ เพื่อพัฒนาสิ่งก่อสร้าง เวชภัณฑ์ในการดูแลประชาชนให้ครอบคลุม โดยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานคำแนะนำและกำลังใจในการควบคุมป้องกันโรคโควิด 19 อีกทั้งได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์มูลค่ารวมกว่า 4 พันล้านบาท ใช้ในการปรับปรุงสถานที่ เวชภัณฑ์/ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อรองรับในช่วงโควิด 19 ระบาด อาทิ รถพยาบาล รถเก็บตัวอย่างตรวจเชื้อชีวนิรภัย 20 คัน ชุดป้องกันส่วนบุคคล หน้ากากอนามัย ถุงยังชีพ และเจลแอลกอฮอล์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงสนับสนุนให้การควบคุมป้องกันโรคเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ

“ขณะนี้มีข้อสงสัยถึงกระบวนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย ในประเด็นต่างๆ ทั้งการได้มาวัคซีนล่าช้า ราคาแพง ไม่ครอบคลุมประชาชน หรือมีการติดต่อบริษัทวัคซีนเพียง 1-2 บริษัทเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องต่อประชาชน ยืนยันว่า การดำเนินการจัดหาวัคซีนอาศัยข้อมูลที่มีหลักฐานชัดเจน มีการเจรจากับหลายบริษัทที่ผลิตวัคซีน ยึดหลักคุณภาพและความปลอดภัย” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มการระบาดของโรคโควิค 19 รัฐบาลเห็นว่าวัคซีนเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันในระดับที่สามารถจะลดการแพร่เชื้อได้ แต่ไม่ใช่เป็นเครื่องมือทั้งหมดของการควบคุมการแพร่ระบาด โดยยืนยันว่าการจัดหาวัคซีนไม่ได้ล่าช้า แต่เริ่มกระบวนการจัดหามาตั้งแต่กลางปี 2563 โดยตั้งคณะทำงานต่างๆ ขึ้นมาศึกษาและติดตามข้อมูล ทั้งด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัย แต่ช่วงเวลานั้นข้อมูลค่อนข้างจำกัดและวัคซีนไม่ใช่สินค้าสำเร็จรูป จึงต้องมีการคาดการณ์และวางแผน โดยตั้งเป้าในปี 2564 จะหาวัคซีนมาฉีดให้คนไทยครอบคลุม 50% ของประชากร โดยมาจาก 3 ช่องทาง คือ ช่องทางแรกผ่านโครงการ COVAX จำนวน 20 % โดยได้มีการเจรจากับโคแวกซ์หลายครั้ง เป็นการประสานหน่วยงานระหว่างประเทศ จึงอาจมีความยุ่งยากในการจองซื้อบางประการ แต่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาและรอความคืบหน้า ช่องทางที่สอง การจองซื้อและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อให้สามารถผลิตในประเทศ โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จำนวน 26 ล้านโดส หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ ของประชากร และช่องทางที่ 3 จากบริษัทอื่นๆ อีก 10เปอร์เซ็นต์  โดยได้ติดตามผลการทดลองเป็นระยะ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญเรื่องสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนเองภายในประเทศที่จะมีประโยชน์ในระยะยาว ยืนยันว่าไม่ได้เลือกแค่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่มีการวางแผนล่วงหน้าและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือแนวทางตามสถานการณ์ เช่น มีการได้วัคซีนจากซิโนแวค มาฉีดในช่วงกุมภาพันธ์-เมษายน และยังมีการเจรจาขอซื้อเพิ่มเติมจากแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อให้ได้วัคซีนครบ 50% ของประชากรในปลายปี 2564 และขยายให้ครอบคลุมประชาชนมากขึ้นในปีต่อไป ถือว่าไม่ได้ล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ แต่มีความรอบคอบในการดำเนินการ 

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาวัคซีนทั่วไปใช้เวลาราว 10 ปี แต่การนำวัคซีนโควิด 19 มาฉีดให้คนไทย เป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน ได้ปรับกระบวนการต่างๆ ให้เร็วขึ้น แต่ยังคงความรอบคอบ โดยวัคซีนต้องมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ผ่านกระบวนการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มีผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้พิจารณา ไม่ดำเนินการไปตามกระแสกดดันหรือทำตามประเทศอื่น ขณะนี้มีบริษัทนำข้อมูลมายื่นขึ้นทะเบียนให้ อย.แล้ว 2 แห่ง โดยแอสตร้าเซนเนก้าก็อยู่ระหว่างการพิจารณา นอกจากนี้ ยังมีการเจรจากับอีก 4 บริษัทเพิ่มเติม ซึ่งต้องนำข้อมูลหลักฐานมาแสดงกับ อย.ด้วย

สำหรับราคาของวัคซีนนั้น ช่วงต้นของการระบาดประมาณการว่าราคาวัคซีนต่อโดสอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท แต่จากการจองซื้อจากแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ที่ 5 ดอลลาร์ต่อโดส หรือประมาณ 150 บาท ถ้าเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆ จะเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสม ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความรอบคอบ ในการนำวัคซีนมาฉีดโดยคำนึงถึงประสิทธิภาพความปลอดภัย เพื่อให้คนไทยได้รับการป้องกันโรคและมีความปลอดภัยในการได้รับวัคซีน

นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การที่บริษัท สยามไบโอไซนเอนซ์ จำกัด เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีศักยภาพและความพร้อมในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีรูปแบบ Viral Vector ในภาวะเร่งด่วนมากที่สุด โดยผ่านการประเมินคุณสมบัติจากแอสตร้าเซนเนก้า เช่น สามารถเป็นฐานการผลิตให้ได้ 200 ล้านโดสต่อปี เป็นต้น ไม่ใช่เลือกเอกชนรายใดก็ได้มาทำ โดยรัฐบาลได้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเกือบ 600 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้แสดงเจตจำนงไว้ในสัญญาว่า เมื่อผลิตวัคซีนได้ตามมาตรฐานที่แอสตร้าเซนเนก้ากำหนด จะคืนวัคซีนให้เท่ากับจำนวนเงินที่ได้รับการสนับสนุน