จีนแจ้งประเทศตอนล่างแม่น้ำโขงหลังจากที่เริ่มกักน้ำไปแล้วหลายวัน

2021-01-14 12:10:18

จีนแจ้งประเทศตอนล่างแม่น้ำโขงหลังจากที่เริ่มกักน้ำไปแล้วหลายวัน

Advertisement

จีนแจ้งประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ทางตอนล่างของลุ่มแม่น้ำโขงเรื่องการลดการปล่อยน้ำที่เขื่อนทางใต้สุดบนทางน้ำเป็นเวลา 20 วันหลังจากที่เริ่มกักเก็บน้ำไปแล้วถึง 6 วัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการแบ่งปันข้อมูลทางน้ำ และการที่ไม่ได้แจ้งประเทศไทย กัมพูชา และประเทศอื่น ๆ ให้ทราบล่วงหน้า

แถลงการณ์ที่ออกมาเมื่อวันพุธที่แล้วโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นหน่วยงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลลาว เวียดนาม ไทย และกัมพูชาในการจัดการทรัพยากรของแม่น้ำที่มีความยาวถึง 4,350 กม. ระบุว่า ได้รับแจ้งจากจีนเมื่อวันที่ 5 มกราคม ว่าการปล่อยน้ำจะลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง และจีนได้ให้คำมั่นว่าน้ำที่ถูกกักไว้ที่เขื่อนจิ่งหง จะค่อยๆ กลับคืนสู่ระดับปกติในวันที่ 25 มกราคม

คุณสมเกียรติ ประจักษ์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำธรรมชาติของประเทศไทย กล่าวในแถลงการณ์ว่า กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนแจ้งว่าได้ลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงของจีนจาก 1,904 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลงเป็น 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 24 มกราคม หลังจากนั้นการปล่อยน้ำจะเพิ่มขึ้นกลับไปสู่สภาวะปกติ



การแจ้งเตือนดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ระบบตรวจสอบที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ ได้เปิดเผยว่า จีนไม่ได้แจ้งประเทศที่อยู่ทางใต้ของแม่น้ำว่าตนกำลังกักเก็บน้ำไว้ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม

ศูนย์สังเกตการณ์เขื่อนแม่โขงของ Stimson Center ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งได้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อติดตามระดับน้ำตามแนวแม่น้ำโขงกล่าวว่า ในการอัพเดทข้อมูลสำหรับสัปดาห์ที่ 28 ธันวาคม 2020 ถึง 3 มกราคม 2021 พบว่าระดับน้ำอยู่ในระดับต่ำที่จุดตรวจหลายแห่งในสามประเทศที่อยู่ตอนล่างของแม่น้ำ


ข้อมูลดังกล่าวระบุว่า การจำกัดปริมาณน้ำของเขื่อนจิ่งหงเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม ทำให้ระดับน้ำลดลง 1 เมตรอย่างกะทันหันเป็นระยะทาง 380 กิโลเมตรที่เชียงแสนระหว่างวันที่ 3-4 มกราคม ข้อมูลจากกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง (LMC) และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ให้การยืนยันในเรื่องนี้ แต่ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคมจีนยังไม่ได้มีการแจ้งเตือนถึงความผิดปกติและการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการประมงและการเกษตรกรรมในบริเวณปลายน้ำ




Brian Eyler ผู้อำนวยการศูนย์สังเกตการณ์ Stimson Center’s Southeast Asia และหัวหน้าโครงการตรวจสอบ กล่าวกับสำนักข่าว Radio Free Asia ภาคภาษาลาว ว่า การตัดสินใจของจีนในการกักเก็บน้ำส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขง และการเก็บกักน้ำดังกล่าวนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องที่น่าพึงพอใจนัก โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ของปี อีกทั้งยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรธรรมชาติของแม่น้ำโขงอีกด้วย แต่ถึงกระนั้น การแจ้งเตือนของจีนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและการดำเนินการของเขื่อนที่ก่อให้เกิดการกักน้ำ ก็ยังถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

เขากล่าวต่อไปว่า จีนได้ทำตามข้อตกลงที่จะแจ้งให้ประเทศที่อยู่ตอนล่างของแม่น้ำทราบเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในการดำเนินการเกี่ยวกับเขื่อน แม้การแจ้งเตือนดังกล่าวยังขัดกับความเป็นจริง กล่าวคือ จีนไม่ได้แจ้งให้ประเทศตอนล่างของแม่น้ำทราบก่อนที่จะกักน้ำไว้ แต่มาแจ้งหลังจากที่ทราบว่ามีผู้รู้เห็นเกี่ยวกับระดับน้ำในแม่น้ำที่ลดลง ดังนั้นทางศูนย์สังเกตการณ์จึงแจ้งต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ตลอดจนแจ้งเตือนบนโซเชียลมีเดียพร้อมทั้งแจ้งว่าจีนไม่ได้มีการแจ้งเตือนใดๆ

ทั้งนี้ จีนตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นผู้ควบคุมเขื่อนทั้ง 11 แห่งบนลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้ประเทศตอนล่างประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงในช่วงปีที่ผ่านมา และเขื่อนที่อยู่ในจีนก็มีส่วนที่ต้องถูกตำหนิในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม เมือเดือนตุลาคมปีค.ศ. 2020 รัฐบาลปักกิ่งตกลงที่จะแบ่งปันข้อมูลกับ MRC เนื่องจากประชากร 60 ล้านคนในประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามต้องใช้น้ำในแม่น้ำเพื่อการเกษตรและการประมง




ขอบคุณ ข้อมูล VOA ไทย