ปชช.แห่ขอสูตร"อภัยภูเบศร"ใช้"กัญชา"ปรุงอาหาร

2021-01-11 18:50:32

ปชช.แห่ขอสูตร"อภัยภูเบศร"ใช้"กัญชา"ปรุงอาหาร

Advertisement

"อภัยภูเบศร" เปิดสูตรใช้ "กัญชา" ปรุงอาหาร พร้อมเชิญร่วม "มหกรรมกัญชากัญชง 360" ที่ จ.บุรีรัมย์


เมื่อวันที่ 11 ม.ค. หลังจาก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดตำรับเมนูอาหารจากใบกัญชา โดยจำหน่ายให้เฉพาะบุคลากรของโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา พร้อมจัดทำแผ่นป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคใบกัญชาในปริมาณที่เหมาะสมของแต่ละเมนู ส่งผลให้มีการเผยแพร่และส่งต่อแผ่นป้ายดังกล่าวไปตามสื่ออนนไลน์ต่างๆ ทำให้ประชาชนให้ความสนใจพร้อมสอบถามข้อมูลกันเป็นจำนวนมาก ล่าสุด พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการดังกล่าว ว่า สืบเนื่องจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นเจ้าภาพจัดทำโครงการกัญชาอภัยภูเบศรโมเดล เป็นการดำเนินการกัญชาทางการแพทย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ผลิตทั้งยาแผนปัจจุบันและแผนไทยเพื่อใช้รักษาผู้ป่วย ศึกษาวิจัยเพื่อเสนอให้เกิดการพัฒนาเชิงนโยบาย และเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2563 ได้มีประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ให้ส่วนใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก และเส้นใย ได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 จึงเกิดแนวคิดว่าต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน ขณะเดียวกันยังได้สื่อสารเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้บริโภค และผู้ประกอบการร้านอาหาร

"ชวน"แต่งตั้ง กก.สมานฉันท์ 11 คน

สหรัฐอ่วม ผู้ป่วยโควิดล้น รพ. กว่า 1 แสนมา 40 วัน

"หมอธีระ"ลั่นทำ 3 ข้อต่อไป



ผอ.โศรยา กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลจึงได้ใช้คอนเซ็ปต์ "มาชิมกัญ" เมื่อมีคนสนใจเราก็จะให้ความรู้เพื่อให้นำกลับไปใช้ได้อย่างถูกต้อง ในอดีตคนไทยจะใช้กัญชาเป็นเครื่องชูรสในอาหารในปริมาณไม่มากนัก โดยหากนำมาปรุงอาหารจะใช้ประมาณ 3 ยอดต่อแกง 1 หม้อ สามารถรับประทานได้ทั้งครอบครัว ส่วนการบริโภคใบกัญชานั้น 1 คน ไม่ควรเกิน 5-8 ใบต่อวัน แต่ในองค์ความรู้ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยพบว่า ในใบกัญชามีสาร THC หรือ Tetrahydrocannabinol ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือที่เรียกว่า สารเมา ซึ่งหากบริโภคติดต่อกันในปริมาณสูงเป็นเวลานาน อาจทำให้เสพติดกีญชาได้ รวมทั้งสารนี้ยังต้องระวังทั้งในเด็กและเยาวชน หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และผู้ป่วยในบางกลุ่มโรค ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องสื่อสารให้ผู้บริโภคได้รับทราบ




พญ.โศรยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของผู้ประกอบการที่สนใจนำกัญชาไปปรุงเป็นอาหารนั้น จะมีการฝึกอบรมให้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำหลักสูตร โดยจะนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษามาอย่างกว้างขวางทั่วโลก มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับให้อาหารไทยมีคุณค่าต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ปัจจุบันผู้ประกอบการสามารถซื้อใบกัญชาได้จากวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่ที่สามารถดำเนินการได้ง่ายกว่า คือ กัญชง เพราะเป็นพืชในสกุลเดียวกัน สามารถประยุกต์ใช้ได้ อีกทั้งกัญชง มีสารเมาน้อยกว่ากัญชา การใช้ในรูปแบบอาหารจึงน่าจะปลอดภัยกว่า ส่วนผู้ที่สนใจสามารถไปที่งาน มหกรรมกัญชากัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน ที่ จ.บุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 5-7 มี.ค.นี้ หรือต้องการทดลองรับประทานอาหารตำรับกัญชา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 037-217127 อภัยภูเบศร เดย์ สปา และ 037-211289 ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร