นอกเหนือจากบริเวณท้องสนามหลวงในช่วงเวลานี้จะคราคร่ำไปด้วยผู้คนจำนวนมากที่ต่างตั้งใจเดินทางมาเยี่ยมชมพระเมรุมาศ และนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชที่เปิดให้เข้าชมตลอดเดือน พ.ย.นี้แล้ว
ในส่วนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกันอันเป็นที่จัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุ และโบราณสถาน รวมถึงเป็นที่ตั้งของ “โรงราชรถ” สถานที่เก็บรักษาพระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตรราชรถ ราชรถน้อย และเครื่องประกอบการพระราชพิธีต่างๆ ที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ก็ดูเหมือนจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมกันหนาแน่นเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เคย
ความเป็นมาของการถือกำเนิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นั้น แต่เดิมเป็นวังหน้าของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับวังหลวง มีพระที่นั่งที่สำคัญ ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นที่ศาลาสหทัยสมาคม เรียกว่า "มิวเซียม" แล้วจึงย้ายมาไว้ที่วังหน้าของกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งบางส่วนกลายเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริเวณข้างเคียงมีโรงเรียนช่างศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ และโรงละครแห่งชาติอยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยสิ่งที่น่าสนใจนอกจากพิพิธภัณฑ์แล้วยังมี "วัดบวรสถานสุทธาวาส" ตั้งอยู่ภายในบริเวณวังหน้า ใกล้กับโรงเรียนช่างศิลป์ วัดนี้เรียกกันว่า "วัดพระแก้ววังหน้า"
ปัจจุบัน พิพิธภัณสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนแห่งแรกของประเทศไทยซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2402 แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 เรื่องราวสำคัญ ได้แก่ 1. ประวัติศาสตร์ชาติไทย จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน 2. ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย จัดแสดงตามยุคสมัย คือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงในอาคารส่วนหลัง ของพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน สมัยประวัติศาสตร์ จัดแสดงในอาคารใหม่ 2 หลัง ที่สร้างขนาบสองข้างของหมู่วิมานเมื่อ พ.ศ. 2510โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สมัยก่อนพุทธศักราช 1800 ได้แก่ สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย และสมัยลพบุรีจัดแสดงในอาคารมหาสุรสิงหนาท และส่วนที่ 2 คือ สมัยหลังพุทธศักราช 1800 เป็นต้นมา จนถึง สมัยรัตนโกสินทร์จัดแสดงในอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ 3. ประณีตศิลป์ และชาติพันธุ์วิทยา จัดแสดงในหมู่พระวิมาน คือ พระที่นั่งวสันตพิมาน พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ และ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา ศิลปโบราณวัตถุที่จัดแสดง ได้แก่ เครื่องทอง เครื่องถม เครื่องมุก เครื่องดนตรี เครื่องไม้จำหลัก ผ้าโบราณ เครื่องถ้วย เครื่องสูง ราชยานคานหาม อาวุธโบราณ เครื่องใช้ในพิธีพระพุทธศาสนา และอัฐบริขารของสงฆ์ และเครื่องการละเล่นต่าง ๆ เช่น หัวโขน หุ่นกระบอก หุ่นเล็ก และหนังใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีราชรถที่ใช้ในกระบวนแห่พระบรมศพ คือพระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตรราชรถ ราชรถน้อย และเครื่องประกอบการพระราชพิธีต่าง ๆ ที่ใช้ใน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จัดแสดงใน อาคารโรงราชรถ
นอกเหนือจากศิลปะโบราณวัตถุแล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังมีโบราณสถานคือ พระที่นั่ง และ พระตำหนักบางองค์ ที่เป็นตัวอย่างของงานสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในพระที่นั่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามยิ่ง พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่ประทับของ
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระตำหนักแดง ที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 รวมไปถึง พระที่นั่งขนาดย่อม และศาลาทรงไทยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ศาลาสรง ศาลาสำราญมุขมาตย์ พระที่นั่งมังคลาภิเษก และพระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศนัย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังคงมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทย ที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ปกติเปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ อังคาร แต่ตลอดเดือน พ.ย.นี้ วันจันทร์-วันอังคารเปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่ เวลา 09.00-16.00 น. (เฉพาะในส่วนของโรงราชรถ) และ วันพุธ-วันอาทิตย์ เปิดให้เข้าชมทุกส่วนได้ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. และเวลา 16-00- 20.00 น. (เฉพาะในส่วนของโรงราชรถ) อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท สอบถามรายละเอียด โทร.0-2224-1333