กทม. เตือน "คนติดโควิด" ปกปิดข้อมูลรับโทษทนัก ย้ำห้ามเปิด 'ผับ-บาร์" โดยเด็ดขาด
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่า กทม. เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร หรือ ศบค.กทม. ครั้งที่ 5/2564 ว่า วันนี้พบผู้ป่วยใน กทม.เพิ่มอีก 47 ราย โดยมีผู้ติดเชื้อ 1 รายเชื่อมโยงกับ จ.สมุทรสาคร จึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อการสกัดและยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรวดเร็วและเด็ดขาด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.นี้ ประกอบด้วย
* "ดิ เอ็มควอเทียร์"ประกาศมาตรการป้องกัน"โควิด"สูงสุด
* แห่ติดแฮชแท็ก"หมอชนะ"จนขึ้นเทรนทวิตเตอร์อันดับ 1
* "อ.นิติศาสตร์"ชี้เอาผิด ปชช.ไร้"แอพหมอชนะ"ขัด รธน.
1.การยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยให้ผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่ และดูแลการจัดกิจกรรมต่างๆ ดำเนินการให้ผู้ใช้บริการ ผู้เดินทาง และประชาชนทั่วไป ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด และให้ติดตั้งแอพพลิเคชัน ”หมอชนะ” เพื่อประโยชน์สำหรับเจ้าหน้าที่ในการบริหารจัดการโรค
2.การยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะของประชาชนในการเดินทางเข้า-ออกเขตพื้นที่สถานการณ์ ซึ่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด พร้อมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนงดการเดินทางในช่วงนี้
3.การลงโทษผู้กระทำผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยให้เจ้าหน้าที่กวดขัน สอดส่องดูแล และเฝ้าระวังป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมถึงการเปิดให้มีการมั่วสุมลักลอบเล่นการพนันในพื้นที่รับผิดชอบ
4.ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดซึ่งออกตาม มาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทาง หรือแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ จยเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและควบคุมโรค อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558