เผยปฏิกิริยาทั่วโลก“ช็อค” เหตุบุกรัฐสภาสหรัฐฯ เรียกร้องเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ

2021-01-07 17:30:42

เผยปฏิกิริยาทั่วโลก“ช็อค” เหตุบุกรัฐสภาสหรัฐฯ เรียกร้องเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ

Advertisement

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันพุธ (6 ม.ค.) ผู้นำหลายประเทศต่างรู้แสดงปฏิกิริยาที่หลากหลายทั้ง ประหลาดใจและตกใจ หรือ “ช็อค” กับเหตุการณ์ที่ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บุกเข้าอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในช่วงที่สมาชิกของสภาคองเกรส ทั้ง 2 สภาอยู่ในระหว่างการประชุมพิจารณารับรองผลการลงคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง ในวันที่ 3 พฤศจิกายน โดยหวังผลการเลือกตั้ง ที่ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้รับชัยชนะ

โฆษกของ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ระบุว่า ผู้นำยูเอ็นรู้สึก “เสียใจ” กับเหตุการณ์ที่อาคารรัฐสภาสหรัฐ

สตีเฟน ดูจาร์ริค โฆษกสหประชาชาติ ระบุในแถลงการณ์ว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้นำทางการเมืองควรเชิญชวนให้ผู้สนับสนุนหยุดความรุนแรง รวมถึงเคารพกระบวนการทางประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม




ขณะที่ เว็บไซต์สถานทูตจีนประกาศ เตือนชาวจีนให้เพิ่มความระมัดระวังต่อ “การชุมนุมขนาดใหญ่” ในกรุงวอชิงตัน รวมถึงประกาศห้ามออกจากบ้านของรัฐบาลท้องถิ่น

ส่วนที่ อินเดีย นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ทวีตข้อความว่า รู้สึกเสียใจเมื่อเห็นข่าวการจลาจลและความรุนแรงในกรุงวอชิงตัน เขาเห็นว่า จะต้องมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างเป็นระเบียบและอย่างสันติต่อไป กระบวนการทางประชาธิปไตยจะถูก “การประท้วงที่ผิดกฎหมาย” ล้มล้างไม่ได้

ด้าน นาย คัตสึโนบุ คาโตะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในฐานะโฆษกรัฐบาล ระบุว่า จะไม่ขอแสดงความเห็นถึงท่าทีทางการเมืองของผู้นำสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นเรื่องภายในประเทศ แต่ญี่ปุ่นหวังว่า จะเห็นประชาธปิไตยในสหรัฐฯ ก้าวผ่านสถานการณ์อันยากลำบากนี้ได้ ได้ความสงบและได้ความสามัคคีกลับคืนมา รวมถึงได้เปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติและเป็นประชาธิปไตย




ขณะที่ฝรั่งเศส ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาคร็อง กล่าวในคลิปวิดีโอที่โพสทางทวิตเตอร์เป็นภาษาอังกฤษว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงวอชิงตันวันนี้ “ไม่ใช่ความเป็นอเมริกันอย่างแน่นอน” และเขาเชื่อมั่นในพลังของประชาธิปไตยในสหรัฐฯ

เช่นเดียวกับ ปฎิกิริยาของ ผู้นำอังกฤษ นาย บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทวีตข้อความว่า เหตุการณ์ที่อาคารัฐสหาสหรัฐฯ ถือเป็น “ความอัปยศ” ในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตยทั่วโลก และเป็นเรื่อง “จำเป็น” อย่างมากที่ควรมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติและเป็นระเบียบ

ส่วนใน เยอรมนี ไฮโก มาส รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ระบุว่า ความรุนแรงที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ คงเป็นที่พอใจของศัตรูในระบอบประชาธิปไตย และขอให้ “ทรัมป์และผู้สนับสนุนของเขา ต้องยอมรับการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนเสียงชาวอเมริกัน และหยุดเหยียบย่ำประชาธิปไตย”



ด้าน รัสเซีย นาย ดิมิทรี โพลยานสกี รองเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำองค์การสหประชาชาติ ทวีตข้อความกล่าวถึงงการประท้วงในยูเครนเมื่อปีค.ศ. 2013-2014 เทียบกับการประท้วงที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งในครั้งนั้นสหรัฐฯให้การสนับสนุนการประท้วงโค่นล้มประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยาโคโนวิช ที่รัสเซียให้การสนับสนุน

ด้าน เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการองค์การนาโต ระบุว่า การประท้วงรุนแรงที่กรุงวอชิงตันเป็น “เรื่องน่าตกใจ” และระบุว่า ผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ตามระบอบประชาธิปไตย ต้องได้รับการเคารพ

ส่วน นายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ ของสเปน ทวีตข้อความว่า เขากำลังติดตามข่าวจากกรุงวอชิงตันด้วยความกังวล และเขาเชื่อมั่นในพลังของประชาธิปไตยของสหรัฐฯ เขายังระบุด้วยว่า ว่าที่ ปธน. ไบเดนจะก้าวข้ามช่วงเวลาตึงเครียด และทำให้คนอเมริกันสามัคคีกันได้

เช่นเดียวกับ ไซมอน โคฟนีย์ รัฐมนตรีต่างประเทศไอร์แลนด์ ระบุว่าเหตุการณ์ในกรุงวอชิงตันเป็นการ “จงใจทำลายประชาธิปไตยโดยประธานาธิบดีทรัมป์และผู้สนับสนุน เพื่อพยายามเปลี่ยนผลการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม” เขายังหวังว่าความสงบจะกลับคืนมาโดยเร็ว

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อความรุนแรง และเรียกร้องให้เกิดความสงบและ “การใช้สามัญสำนึก” ในขณะที่เตือนให้ชาวตุรกีหลีกเลี่ยงพื้นที่การประท้วง




ด้าน สหภาพยุโรป ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป ทวีตข้อความแสดงความตกใจต่อเหตุการณ์ในกรุงวอชิงตัน โดยระบุว่า “อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางของประชาธิปไตย เราเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ จะเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติให้โจ ไบเดน ได้”

ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป เออร์ชูลา วอน เดอ เลเยน ระบุว่า เธอเชื่อมั่นในพลังของสถาบันและประชาธิปไตยของสหรัฐฯ การเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติคือหัวใจสำคัญ ไบเดนคือผู้ชนะเลือกตั้ง และเธอหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับเขาในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป

ส่วน นาย จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรี แคนาดา กล่าวกับสถานีวิทยุ News 1130 Vancouver ว่า เขากังวลและติดตามสถานการณ์นาทีต่อนาที เขาคิดว่าสถาบันประชาธิปไตยของสหรัฐฯ นั้นแข็งแรง และหวังว่าทุกอย่างจะกลับคืนเป็นปกติโดยเร็ว

ขณะที่ สวีเดน นายกรัฐมนตรีสตีฟาน ลอฟเฟน ทวีตข้อความว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการ “โจมตีประชาธิปไตย” โดยเขาระบุว่า ปธน. ทรัมป์และสมาชิกสภาคองเกรสหลายคนต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมาก กระบวนการประชาธิปไตยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีต้องได้รับการเคารพ

รวมไปถึง นายกรัฐมนตรีเออร์นา ซอลเบิร์ก ของนอร์เวย์ ทวีตข้อความว่า นี่คือ “การโจมตีประชาธิปไตยสหรัฐฯ ที่รับไม่ได้” และ ปธน. ทรัมป์ ต้องรับผิดชอบหยุดเหตุการณ์นี้ ภาพที่เกิดขึ้นน่ากลัว และเธอไม่อยากเชื่อว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่สหรัฐฯ




ที่ออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรีสก็อต มอร์ริสัน ประณามการใช้ความรุนแรงในกรุงวอชิงตัน และหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลอย่างสันติภายใต้ “ธรรมเนียมทางประชาธิปไตยอันยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ”

ด้าน นิวซีแลนด์ นายกรัฐมนตรีหญิง จาซินดา อาร์เดิร์น ทวีตข้อความว่า ประชาธิปไตยคือการให้สิทธิ์ประชาชนเลือกตั้ง และเคารพการตัดสินใจของประชาชนอย่างสันติ และไม่ควรถูกทำลายโดยการประท้วง เธอส่งความปรารถนาดีไปยังทุกคนที่เสียใจกับเหตุการณ์ในวันนี้ และเชื่อมั่นว่าประชาธิปไตยจะชนะ

ขณะที่ เวเนซูเอลา จอร์จ อาร์เรียซา รัฐมนตรีต่างประเทศ ทวีตข้อความว่า เวเนซูเอลาแสดงความกังวลถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในกรุงวอชิงตัน ประณามการแบ่งขั้วทางการเมือง และหวังว่าชาวอเมริกันจะเปิดทางให้ความมั่นคงและความเป็นธรรมทางสังคม

ส่วน ที่อาร์เจนตินา ประธานาธิบดีอัลเบอร์โต เฟอร์นานเดซ ทวีตข้อความว่า เขาประณามการใช้ความรุนแรงและการบุกรุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน เขาเชื่อมั่นว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ โดยเคารพความต้องการของคนส่วนมาก และขอสนับสนุนว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นอย่างเต็มที่


ขอบคุณข้อมูล VOA ไทย