"พิธา" อภิปรายโควิดซัดรัฐบาลบริหารล้มเหลวผิดทิศผิดทาง

2021-01-06 22:25:35

"พิธา" อภิปรายโควิดซัดรัฐบาลบริหารล้มเหลวผิดทิศผิดทาง

Advertisement

"พิธา" เปิดอภิปรายออนไลน์ปัญหาโควิด- 19 ซัดรัฐบาลบริหารล้มเหลว ผิดทิศผิดทาง โยนความรับผิดชอบให้กับประชาชน ข้าราชการชั้นผู้น้อย ชี้ 4 ประเด็นยังไม่ได้รับการสะสาง เสนอ 5 แนวทางแก้ปัญหา

เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 6 ม.ค. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ว่า เป็นที่น่าเสียดายที่สภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถดำเนินการจัดการประชุมสภาได้ตามปกติ ทำให้พวกเราไม่สามารถพูดแทนพี่น้องประชาชนหรือไม่สามารถพิจารณากฎหมายสำคัญได้ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้นิ่งนอนใจและคำนึงถึงปากท้องเเละภาษีของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ ในเบื้องต้นจึงจะผลักดันให้เกิดการประชุมออนไลน์ในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อใช้กลไกของรัฐสภาแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนได้

"ก้อย"หยอก"บิ๊กตู่"กักตัวอยู่บ้านสู้"โควิด"ก็มีเงินใช้

เปิดไทม์ไลน์ตาวัย 88 ปีดับจากโควิดรายล่าสุด

นายพิธา กล่าวต่อว่า ตนขออภิปรายแบบออนไลน์ครั้งเเรกภายใต้สถานการณ์การเเพร่ระบาดของโควิดที่เกิดขึ้น รัฐบาลภายใต้การบริหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไป ศบค.  ได้บริหารสถานการณ์อย่างล้มเหลว ผิดทิศผิดทาง เเละโยนความรับผิดชอบให้กับประชาชน ข้าราชการชั้นผู้น้อย โดยมีปัญหาที่ยังไม่ได้รับการสะสางให้ชัดเจน 4 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นเเรก ธุรกิจสีเทา เรื่องแรก คือ บ่อนการพนันซึ่งเป็นหนึ่งในต้นตอในการเเพร่ระบาดของไวรัสระลอกนี้ ถึงตอนนี้ยังไม่สามารถเอาผิดกับต้นตอและหาสาเหตุของการหละหลวมได้ อีกเรื่องหนึ่งคือ การจัดการต้นตอของปัญหาเเรงงานต่างชาติอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การเข้าถึงระบบสาธารณสุขและเพื่อปฏิรูปฐานเเรงงานในอนาคตหลังโควิดเบาบางลงได้

ประเด็นที่สอง การจัดหาวัคซีน ซึ่งยังไม่ครบตาม 60-80 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ WHO แนะนำ และยังเป็นอีกหนึ่งเรื่องเทาๆที่ยังคลุมเครือ ซึ่งหากบริหารวัคซีนไม่ดีพอก็จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจเเละคุณภาพชีวิตประชาชนของประเทศ ซึ่งการจัดหาวัคซีนจะเป็นหรือจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะหยุดวิกฤติโควิดครั้งนี้ได้

ประเด็นที่สาม การควบคุมการระบาดระลอก 2 ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อมีอัตราสูงกว่าครั้งเเรกถึง 3 เท่า แต่จากวิธีการที่นำมาใช้ทำให้รู้ว่ารัฐบาลยังไม่ได้เรียนรู้จากประสบการณที่ผ่านมา ทั้งเรื่องการสื่อสารและการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่ต้องสื่อสารกับประชาชนคือ ให้ตระหนักถึงความสำคัญเเต่ไม่ตระหนก ซึ่งหากเรายังควบคุมการระบาดไม่ได้ เศรษฐกิจของประเทศจะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างมหาศาล

ประเด็นสุดท้าย คือ การบริหารงบประมาณ ในระยะสั้นคือนำ พ.ร.ก.เงินกู้ที่ยังเหลือในครั้งเเรกมาใช้ในการเยียวยา ระยะกลางคือการเกลี่ยก่อนกู้ เพื่อเป็นกระจายงบประมาณที่ได้นำมาจัดสรรใช้ในทุกส่วนอย่างเท่าเทียม ระยะยาวก็คือการจัดทำงบประมาณก้อนใหม่ โดยในเดือนมกราคม เป็นเดือนเริ่มจัดทำงบประมาณปี 2565 ซึ่งเมื่อวานนี้กรอบของงบประมาณปี 65 ออกมาเเล้วว่าอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท สิ่งที่ต้องทำคือจะต้องมีการจัดสรรงบประมาณที่ตอบโจทย์ของประชาชน โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เเละจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมกับประเทศที่กำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤติไม่ใช่การบริหารเเละจัดสรรงบประมาณแบบเดิม ที่เหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

“สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ นอกจากการหาคนผิดมารับผิดอย่างจริงจัง ที่ไม่ใช่เเค่การโยกย้ายตำเเหน่ง อย่างในเคสสนามมวยลุมพินีในการระบาดครั้งเเรก ในเรื่องยุทธศาสตร์เราจะต้องเปิด one stop sevice และนิรโทษกรรม ตาม พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 เพื่อให้มีการเปิดขึ้นทะเบียน ตรวจสุขภาพ เเละให้ที่อยู่อาศัย อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นการป้องกันเเละดูเเลเเรงงานข้ามชาติ ต้องมีการปฏิรูปเเรงงานต่างอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อควบคุม เพิ่มประสิทธิภาพในการดูเเล เเละเพื่อเพิ่มเเรงงานเข้าสู่ระบบอีกครั้งเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเบาบางลง ” นายพิธา กล่าว

“เรามีเวลาอยู่กับโควิดมา 1 ปี เราต้องบริหารงบประมาณให้กับเหมือนประเทศที่อยู่ในภาวะวิกฤติ ถ้าเราสามารถบริหารประเทศภายใต้งบประมาณที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพให้ดีกว่านี้้ บริหารการจัดการจัดซื้อวัคซีนให้ดีกว่านี้ เเละเตรียมพร้อมการเเจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมทั่วถึง ถ้าคุณสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนให้ดีกว่านี้ ผมเชื่อว่าเราจะสามารถก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปด้วยกันได้สำเร็จ” นายพิธา กล่าว

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า พรรคก้าวไกลมีข้อเสนอ 5 ประเด็นหลักเพื่อแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่เกิดขึ้น คือ 1.เร่งแก้ไขพระราชกำหนดซอร์ฟโลน 5 แสนล้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงได้จริง ในเรื่องนี้พรรคก้าวไกลได้พยายามผลักดันในคณะกรรมาธิการแก้ไขงบประมาณโควิดมาตลอด เพราะที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายไปเพียง 20 % เท่านั้น เนื่องจากติดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม เข้าถึงยาก เรื่องนี้จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถฟื้นตัวได้เองหลังจากภาวะวิกฤติ 2.การโยกงบประมาณฟื้นฟู 460,000 ล้านบาท ที่ยังเหลือจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มาใช้เยียวยาประชาชนได้ 3.เร่งจัดหาวัคซีน ใช้งบพ.ร.ก.เงินกู้ด้านสาธารณะสุขที่เหลืออยู่ และงบกลางปี 63 เพื่อจัดหาวัคซีนให้คนไทย 35-40 ล้านคน เป็นอย่างน้อย 4. การเกลี่ยก่อนกู้ด้วยการออกพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ พ.ศ. 2564 อย่างที่เคยเสนอมาเเล้วใน พ.ศ. 2563 เนื่องจากงบในส่วนที่ไม่ผูกพันยังมีอยู่อีกประมาณกว่า 6 เเสนล้านบาท ส่วนจะสามารถโอนได้แค่ไหนขึ้นกับการจัดลำดับความสำคัญ โดยพรรคก้าวไกลมีเป้าหมายในการโอนได้ตั้งแต่ 61,300 - 306,500 ล้านบาท 5. การจัดทำงบประมาณปี 2565 ต้องทำให้เป็นงบประมาณที่รองรับกับปัญหาประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เเละเหมาะสมกับประเทศที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ไม่ใช่การจัดงบประมาณเหมือนเดิมเหมือนกับประเทศที่ไม่มีวิกฤติ ซึ่งคราวนี้คงไม่มีข้ออ้างอีกแล้วว่าไม่สามารถทำได้ทันด้วยระเบียบราชการ เพราะขณะนี้ยังมีเวลาพอที่จะสามารถจัดงบประมาณให้เหมาะสมได้

“ทุกเรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพี่น้องประชาชน เพราะเป็นเรื่องของการใช้งบประมาณ เป็นเรื่องของภาษีของพี่น้องประชาชน และเป็นการก่อหนี้ที่เกี่ยวข้องกับลูกหลานของเราในอนาคตเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องให้ความสนใจ เเละเราจะก้าวข้ามผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน “ นายพิธา กล่าว