"หมอธีระ"แนะ 3 แนวทางยับยั้งโควิด-19 ระบาด

2021-01-06 18:50:18

"หมอธีระ"แนะ 3 แนวทางยับยั้งโควิด-19 ระบาด

Advertisement

"หมอธีระ"แนะ 3 แนวทางยับยั้งการระบาดโควิด-19  อย่าหลงคารมตรวจกลุ่มเสี่ยงแล้วเจอเคสติดเชื้อเยอะแปลว่าเอาอยู่คุมโรคได้ ถ้าไม่หยุดการเดินทาง ไม่หยุดกิจกรรมเสี่ยงยากที่จะหยุดการระบาดได้

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โพสต์ข้อความผ่านเพจ Thira Woratanarat 1. สถานการณ์การระบาดรุนแรงหรือไม่รุนแรง ให้ดูที่ 3 อย่างประกอบกันคือ

เปิดไทม์ไลน์ตาวัย 88 ปีดับจากโควิดรายล่าสุด

สธ.แถลงโรงงานปลากระป๋องติดเชื้อโควิด 914 รายจริง

หนึ่ง จำนวนการติดเชื้อภายในประเทศที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน โดยต้องไม่แยกว่าเป็นเชื้อชาติใดในประเทศ ดังนั้นหากมีติดเชื้อในประเทศทั้งคนไทย ทั้งแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทย ก็ต้องเอามารวมกันให้เห็นตัวเลขให้ชัดเจน ไม่บิดเบือน

สอง จำนวนการตรวจในแต่ละวัน และอัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อ สองอย่างนี้มักถูกเล่นแร่แปรธาตุได้ง่าย เช่นไม่อยากให้เห็นว่าระบาดรุนแรง กลัวเสียหน้า เลยตรวจน้อยๆ จะได้เจอน้อยๆ ดังนั้นจึงต้องดูจำนวนการตรวจในแต่ละวันให้ดี ในขณะที่อัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อนั้น หากยิ่งสูง แปลว่ายิ่งน่ากลัว เพราะโอกาสเจอคนติดเชื้อในพื้นที่นั้นยิ่งเยอะ

สาม จำนวนการตาย และอัตราการตาย สองตัวนี้เป็นตัวบ่งบอกถึงความรุนแรงของโรค และมีส่วนสัมพันธ์กับภาระของระบบสุขภาพ หากตายเยอะหรืออัตราตายเยอะก็อาจมาจากการรับมือไม่ไหว เพราะขาดคน เงิน ยา อุปกรณ์ ฯลฯ 

ส่วนตัวแปรอื่นๆ ที่ใช้ทางระบาดวิทยา เช่น ค่า R นั้น คนธรรมดาทั่วไปจะเข้าถึงข้อมูลจริงได้ยากและอาจเข้าใจได้ลำบาก ดังนั้นสังเกตแค่สามอย่างข้างต้นก็พอ จะได้ประเมินสถานการณ์ได้เอง 

2. ธรรมชาติของการระบาดซ้ำนั้น มันไม่เลือกที่รักมักที่ชัง กระจายไปถ้วนทั่ว ทั้งกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะบ่อน ปาร์ตี้ ผับบาร์ สนามมวย หรืออื่นๆ แต่ยังรวมไปถึงคนอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ใช้ชีวิตประจำวันอย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หากไม่ป้องกันก็มีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ด้วย

เราจึงไม่แปลกใจที่ปัจจุบัน ไทยเรามีระบาดรุนแรงกระจายไปทั่ว จึงมีทั้งกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มทั่วไปจากการใช้ชีวิตประจำวัน สืบหาต้นตอสาเหตุการติดเชื้อไม่ได้

แนวทางที่จะต่อสู้ยับยั้งการระบาดซ้ำได้จึงต้องทำร่วมกันระหว่างวิธีต่อไปนี้ 

หนึ่ง การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ โดยรณรงค์ให้ทุกคนป้องกันตัวด้วยการใส่หน้ากาก อยู่ห่างๆ ล้างมือบ่อยๆ 

สอง การตัดปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อด้วยมาตรการอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ไม่ให้เกิดการเดินทางโดยไม่จำเป็น อยู่กันนิ่งๆ จะใช้คำว่าล็อคดาวน์ หรือไม่ก็แล้วแต่ใจอยาก แต่ต้องไม่ให้เคลื่อนที่ไปมาระหว่างกัน 

สาม ตะลุยตรวจคัดกรองโรคให้มากที่สุด ทุกคนในพื้นที่ที่มีเคสได้ยิ่งดี เพื่อให้สามารถระบุได้ว่าใครติดเชื้ออยู่บ้างโดยไม่รู้ตัว รวมถึงรณรงค์ให้คนสังเกตอาการถ้าไม่สบายหรือมีประวัติเสี่ยงก็ให้รีบมาตรวจ เป็นการทำทั้งแบบ active และ passive case finding และนำส่งผู้ติดเชื้อเหล่านั้นไปสู่กระบวนการดูแลรักษาเพื่อตัดวงจรการระบาด 

อนึ่ง ต้องไม่ไปหลงคารมใครต่อใครที่ป่าวประกาศว่า ตูทำ active case finding หรือตระเวนไปตรวจกลุ่มเสี่ยงแล้วเจอจำนวนเคสติดเชื้อเยอะแล้วแปลว่า "ดี๊ดี เอาอยู่ คุมโรคได้" การแปลแบบนี้ไม่มีตำราใดโรงเรียนใดในโลกที่จะสอนให้แปลเช่นนี้ 

หากไปสุ่มตรวจ หรือลุยตรวจแล้วเจอติดเชื้อเยอะ แปลว่า สถานการณ์ระบาดจริงนั้นมันรุนแรง เพียงแต่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยไปตรวจ การไปตรวจแล้วเจอ จึงช่วยให้เราทราบเพียงว่า เฮ้ย...มันระบาดแรงจริงว่ะ อยู่เฉยไม่ได้แล้ว ต้องรีบตะลุยตรวจหาคนในพื้นที่ให้ครบถ้วนโดยเร็ว ก่อนที่มันจะเกิดการแพร่กระจายไปมากกว่านี้ คนที่เรายังไม่ได้ตรวจนั้นอาจมีอีกมากที่ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว และจะแพร่ให้คนอื่นได้อีกมาก 

นี่คือหลักการคิดทางระบาดวิทยา เพื่อเอามาใช้ในการควบคุมโรคที่ควรจะเป็น และหากเราคิดเช่นนี้ได้ ก็จะเกิดประโยชน์มาก เพราะเราจะได้เอามาทบทวนนโยบายและมาตรการเดิมให้มันดียิ่งขึ้น เพราะของเดิมที่เชื่อหรือที่ทำมาตลอดนั้นมันไม่ดีพอ ไม่มีประสิทธิภาพพอ คนติดเชื้อในชุมชนหรือที่ต่างๆ จึงติดกันงอมแงมแบบนี้ 

หากเปิดใจยอมรับความจริง เราจะได้เรียนรู้ และพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคม และพร้อมรับมือกับวิกฤติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ที่กล่าวมาข้างต้น ไทยเราควรนำมาพิจารณาเพื่อขันน็อตระบบที่มีอยู่นั้นให้เข้มแข็ง เพื่อปกป้องทั้งประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศ

โรคนี้...ถ้า"ท่าน"ไม่หยุดการเดินทางระหว่างกัน และไม่หยุดการใช้ชีวิตในกิจกรรมหรือกิจการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อในชีวิตประจำวัน ก็ยากนักที่จะหยุดการระบาดได้

ขอบคุณ Thira Woratanarat