ห้าม! กัมพูชาเข้าตลาดโรงเกลือ ระงับส่งแรงงานตัดอ้อย

2021-01-06 18:50:27

ห้าม! กัมพูชาเข้าตลาดโรงเกลือ ระงับส่งแรงงานตัดอ้อย

Advertisement

ไทย-กัมพูชา ด้าน จ.สระแก้ว ระงับส่งแรงงานตัดอ้อยกว่าหมื่นคน รวมถึงเขมรตลาดโรงเกลือ

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อรายวันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจังหวัดสระแก้ว ถูกกำหนดให้อยู่ในกลุ่ม 28 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ล่าสุด นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผวจ.สระแก้ว ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึง ผวจ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ขอระงับการเดินทางข้ามแดนเข้ามาดูแลสินค้าในตลาดโรงเกลือของพ่อค้าแม่ค้ากัมพูชาวันละ 100 คน ขณะที่ฝ่ายกัมพูชา มีคำสั่งชะลอการส่งออกแรงงานตัดอ้อยอีกกว่าหมื่นคนเช่นกัน เนื่องจากไทยยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวัน สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 6 ม.ค. ที่ห้องประชุมดอกแก้ว ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผวจ.สระแก้ว นั่งหัวโต๊ะในการร่วมพูดคุยกับสื่อมวลชน ภายหลังแถลงปิดศูนย์ดูแลความเรียบร้อยในช่วงเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ปีนี้จังหวัดสระแก้วมียอดผู้เสียชีวิต 4 คน โดยภาพรวมของจังหวัดเป็นที่น่าพอใจ ก่อนจะยืนยันกับ สื่อมวลชนว่าขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในพื้นที่ยังยืนยันผลเท่าเดิม คือ 2 คน มีไทม์ไลน์จากบ่อนการพนันที่ระยอง และจันทบุรี เท่านั้น




ผวจ.สระแก้ว ยอมรับว่า จากสถานการณ์โควิดในขณะนี้ ทำให้จังหวัดต้องทบทวนมาตรการผ่อนคลายในหลายเรื่อง หลัง จ.สระแก้วถูกกำหนดเป็นหนึ่งใน 28 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งก็มีข้อห้ามในการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ทางคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดสระแก้ว ได้มีการพูดคุยหาข้อสรุปจนทำให้เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (5 ม.ค.) ผวจ.สระแก้ว มีคำสั่งด่วนที่สุดไปถึง ผวจ.บันเตียเมียนเจย ขอยกเลิกมาตรการอนุญาตให้ชาวกัมพูชาเข้ามาขนส่งสินค้าตามความจำเป็น ณ จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว หรือ ตลาดโรงเกลือ ให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.64 หรือวันอาทิตย์นี้เป็นต้นไป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังขยายเป็นวงกว้าง โดยคำสั่งนี้ สอดคล้องกับที่ก่อนหน้านี้ ทางฝ่ายกัมพูชามีหนังสือส่งถึงฝ่ายไทย ขอยกเลิกการส่งแรงงานตัดอ้อยตามฤดูกาล จำนวนกว่า 1 หมื่นคนออกไปก่อนเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

ขณะที่ ผวจ.สระแก้ว ยืนยันว่า หลังจากเปิดหีบอ้อยเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา ประกอบกับสถานการณ์ขณะนี้ที่จะต้องมีการประเมินแบบวันต่อวัน ทางจังหวัดจึงได้ปรับแผน โดยให้นายจ้างพร้อมเครื่องจักรที่มีอยู่ ยังคงใช้แรงงานชาวกัมพูชาที่ยังตกค้างในพื้นที่ไปก่อนในช่วงนี้ เพราะจากการสำรวจพบบว่า มีแรงงานตัดอ้อยเดิมอยู่ประมาณ 5 ถึง 6 พันคน ถือว่าเป็นการประคองช่วยกันไปก่อนในสถานการณ์แบบนี้