ครั้งแรก เกาหลีใต้ ประชากรตายมากกว่าเกิด

2021-01-05 12:50:26

ครั้งแรก เกาหลีใต้ ประชากรตายมากกว่าเกิด

Advertisement


เกาหลีใต้เปิดสถิติอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าอัตราการเกิดในปี พ.ศ.2563 เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น กระตุ้นให้มีกระแสเสียงเรียกร้องให้ฟื้นฟูอัตราการเกิด หรือการเจริญพันธุ์ ที่กำลังลดลงในประเทศ ทั้งนี้ นานหลายปีแล้ว ที่เกาหลีใต้พยายามอย่างหนักในการต่อสู้กับวิกฤตด้านประชากร เพราะอัตราการเกิดของประเทศ ซึ่งเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงหนึ่งคนสามารถมีบุตรได้หลายคนในช่วงชีวิตของเธอ ทำสถิติลดลงต่ำสุด และอัตราการเกิดก็ร่วงลงไปอยู่ในอันดับเกือบต่ำสุดในโลก ขณะเดียวกัน ประชากรเกาหลีใต้ ก็มีแนวโน้มสูงอายุมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศเข้าสู่ภาวะลดลงด้านประชากร

แต่ข้อมูลสำมะโนประชากรปีที่แล้ว ซึ่งเปิดเผยโดยกระทรวงมหาดไทยและความปลอดภัยในวันจันทร์ ดูเหมือนว่าจะน่าตกใจมากขึ้น โดยอัตราการเกิด มีเพียง 275,815 คนเท่านั้น ซึ่งต่ำสุด เมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิต 307,764 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.1 เปอร์เซ็นต์ นี้เป็นครั้งแรกที่เกาหลีใต้ มีอัตราการเสียชีวิตของประชาชนมากกว่าอัตราการเกิด และยังเป็นครั้งแรกด้วยที่ประชากรทั้งหมด ลดลง



ประชากรเกาหลีใต้ยังคงกระโดดเข้าสู่ยุคผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ผลสำรวจสำมะโนประชากร พบว่า ประชาชน 32.7 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในวัย 40 และ 50 ปี และเกือบ 1 ใน 4 มีอายุมากกว่า 60 ปี

การเปิดเผยนี้ไม่ได้อ้างถึงสาเหตุของการเสียชีวิต หรือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อตัวเลขผู้เสียชีวิตของปีที่แล้วมากน้อยขนาดไหน ซึ่งจนถึงขณะนี้ เกาหลีใต้มีผู้เสียชีวิตจากโควิดแล้ว 981 ราย จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญชาวเกาหลี เตือนก่อนหน้านี้แล้วว่า การระบาดของไวรัสอาจมีผลต่ออัตราการเกิดและการตาย ทั้งเพราะอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากโควิด และสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับการระบาดของไวรัส ทำให้คู่สามีภรรยาไม่กล้ามีลูกด้วยกัน



ในรายงานที่เผยแพร่ในเดือนธันวาคม 2563 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ เตือนว่า อัตราการเกิดที่ลดลงของประเทศและประชากรสูงวัย ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นรวดเร็ว เนื่องจากผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 การระบาดของไวรัส ยังส่งผลกระทบต่องานและรายได้สำหรับผู้ใหญ่ในวันทำงานอายุ 20-30 ปีด้วย ซึ่งแน่นอนว่า ส่งผลเสียต่อแผนการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวของพวกเขาด้วย อีกทั้ง ปัญหาเศรษฐกิจและความกังวลส่วนบุคคล อาจเป็นสาเหตุให้พวกเขาชะลอการมีบุตรออกไป มีหลายกรณีที่ แรก ๆ เลื่อนการมีบุตรออกไปก่อนชั่วคราว แต่ก็อาจกลายเป็นการไม่มีบุตรอย่างถาวรก็ได้

ธนาคารชาติเกาหลีใต้ เตือนอีกว่า เกาหลีใต้อาจเผชิญหน้ากับสัดส่วนของประชากรผู้สูงวัยสูงที่สุดในโลก และเรียกร้องให้ใช้นโยบายที่เข้มข้นมากขึ้น และสร้างแรงจูงใจในการให้กำเนิดบุตรเพื่อรักษาเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ที่มีอัตราการเกิดต่ำ ก็ประสบปัญหาด้านประชากรดำดิ่งด้วยระหว่างไวรัสระบาด ญี่ปุ่น ซึ่งต่อสู้กับปัญหาอัตราการเกิดต่ำและประชากรสูงวัยมานานหลายปี ก็มีจำนวนหญิงตั้งครรภ์และการแต่งงานลดลงในครึ่งแรกของปี 2563

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิด อาจทำให้ประชาชนไม่กล้าตั้งครรภ์ และเริ่มต้นชีวิตครอบครัว



มีเหตุผลเดียวกันที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการลดลงของประชาชนทั้งในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หลัก ๆ เลยคือวัฒนธรรมในการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เกิดความยากลำบากในการสร้างความสมดุลระหว่างอาชีพกับการใช้ชีวิตครอบครัว นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มเลื่อน หรือหลีกเลี่ยงการแต่งงานด้วย โดยในปี 2561 ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ ซึ่งอายุ 20-40 ปี อยู่เป็นโสด จากข้อมูลของสถาบันสุขภาพและกิจการสังคมของเกาหลี หรือเคไอเอชเอสเอ (KIHSA) บางคนไม่เคยออกเดทเลย ซึ่งผู้ชาย 51 เปอร์เซ็นต์ และผู้หญิง 64 เปอร์เซ็นต์ กล่าวว่า พวกเขาเลือกไม่ออกเดท เพราะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับงานอดิเรก หรือมุ่งเน้นไปที่การศึกษา หลายคนบอกว่า ไม่มีเวลา, เงิน หรืออารมณ์ที่จะออกเดท