‘ยานสำรวจดาวอังคาร’ ฝีมือจีน ทะยานไกลกว่า 400 ล้าน กม. จ่อเข้าสู่วงโคจรเดือนหน้า

2021-01-04 18:00:23

‘ยานสำรวจดาวอังคาร’ ฝีมือจีน ทะยานไกลกว่า 400 ล้าน กม. จ่อเข้าสู่วงโคจรเดือนหน้า

Advertisement

ปักกิ่ง, 3 ม.ค. (ซินหัว) — องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เปิดเผยว่ายานสำรวจดาวอังคารเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) ของจีน เดินทางไกลระยะทางรวมกว่า 400 ล้านกิโลเมตรแล้ว เมื่อนับถึงช่วงเช้าวันอาทิตย์ (3 ม.ค.) และคาดว่าจะเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์

ยานสำรวจดาวอังคารได้เดินทางในห้วงอวกาศเป็นเวลา 163 วัน โดยขณะนี้ตัวยานอยู่ห่างจากโลกราว 130 ล้านกิโลเมตร และห่างจากดาวอังคารราว 8.3 ล้านกิโลเมตร เมื่อนับถึงเวลา 06.00 น. ของวันอาทิตย์ (3 ม.ค.) ตามเวลาปักกิ่ง

องค์การฯ เผยว่ายานสำรวจสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเสถียร และมีกำหนดชะลอความเร็วก่อนเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารในอีกราว 1 เดือนข้างหน้า พร้อมทั้งเตรียมตัวที่จะลงจอดบนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้




ยานสำรวจดาวอังคารประสบความสำเร็จในการบันทึกภาพโลกและดวงจันทร์ นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2020 รวมถึงการถ่ายเซลฟีหลายภาพ ทั้งยังได้ดำเนินการปรับวิถีของวงโคจรรวม 3 ครั้ง ทำการเคลื่อนที่ในห้วงอวกาศลึกตลอดจนทำการตรวจสอบอุปกรณ์หลายรายการที่นำขึ้นไปด้วยตนเอง

ยานสำรวจเทียนเวิ่น-1 ซึ่งมีน้ำหนักราว 5 ตัน ประกอบด้วยยานอวกาศ ยานลงจอด และยานสำรวจภาคพื้น ซึ่งถูกออกแบบมาให้สามารถโคจร ลงจอด และวิ่งสำรวจครบในภารกิจเดียว



หลังเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารแล้ว ยานสำรวจจะใช้เวลา 2-3 เดือนในการสำรวจสถานที่ลงจอดที่มีศักยภาพ โดยใช้กล้องความละเอียดสูง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการลงจอดบนพื้นผิวในเดือนพฤษภาคม

อย่างไรก็ดี จุดที่ท้าทายที่สุดของภารกิจครั้งนี้คือการลงจอดอย่างนุ่มนวล ซึ่งเป็นกระบวนการลงจอดอัตโนมัติของยานสำรวจซึ่งจะกินเวลานาน 7-8 นาที โดยยานสำรวจจะใช้รูปแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ การปล่อยร่ม และจรวดถอยหลัง (retrorocket) เพื่อชะลอความเร็วและรับน้ำหนักกระแทกในการลงจอด

หลังลงจอดแล้ว ยานสำรวจภาคพื้นจะถูกปล่อยออกไปเพื่อดำเนินการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ด้วยอายุการใช้งานอย่างน้อย 90 วันบนดาวอังคาร (ราว 3 เดือนบนโลก) ขณะที่ยานอวกาศที่มีอายุการใช้งานออกแบบ 1 ปีบนดาวอังคาร (ราว 687 วันบนโลก) จะทำหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสารให้แก่ยานสำรวจภาคพื้น พร้อมทั้งดำเนินการตรวจจับทางวิทยาศาสตร์ด้วยตนเองในเวลาเดียวกัน



อนึ่ง เทียนเวิ่น-1 ซึ่งมีความหมายว่า “คำถามต่อสรวงสวรรค์” มาจากบทกวีนิพนธ์ที่ประพันธ์โดยชวีหยวน (ราว 340-278 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งเป็นหนึ่งในกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคจีนโบราณ โดย “เทียนเวิ่น” บ่งชี้ถึงความมุมานะของจีนในการแสวงหาความจริงและวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการสำรวจธรรมชาติและจักรวาล