จนท.วางยาสลบรักษาช้างกุยบุรีบาดเจ็บ

2021-01-04 17:45:47

จนท.วางยาสลบรักษาช้างกุยบุรีบาดเจ็บ

Advertisement

จนท.วางยาสลบรักษาช้างกุยบุรีบาดเจ็บ รักษาอาการปลอดภัย


เมื่อวันที่ 4 ม.ค. นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี พร้อมด้วยนายไพโรจน์ นาครักษา ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ นายจำลอง จงศรี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร นางสาวสุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานเดินทางไปติดตามการรักษาช้างป่าเพศผู้ อายุประมาณ 20 - 25 ปี น้ำหนักประมาณ 3,000 กิโลกรัม ที่บาดเจ็บบริเวณขาพับในข้างขวาและขาขวามีอาการบวม หากินอยู่บริเวณสระน้ำ สวนยางพาราของชาวบ้านหมู่ 4 บ้านท่าวังหิน ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. 63 ซึ่งทีมสัตว์แพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย อ.ชะอำ ยังคงให้การรักษาโดยการยิงลูกดอกที่ใส่ยาฆ่าเชื้อ และให้ยาปฏิชีวนะชนิดเม็ดแบบกินซึ่งเป็นฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ และวิตามินบำรุงร่างกายใส่ในผลไม้วางให้ช้างกินและเฝ้าอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 25 วันแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าช้างสามารถลุกขึ้นยืนและเดินเองได้ สามารถกินอาหารได้ปกติ แต่ชอบแช่อยู่แต่ในน้ำทั้งวันเพื่อลดความเจ็บปวดจากแผล ซึ่งทางสัตว์แพทย์กังวลว่าแผลที่ขาเกิดเน่าเปื่อยและเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่าย จึงได้ประสานผู้ใหญ่บ้านใช้วิธีสูบน้ำออกจากสระทั้งวันทั้งคืนให้น้ำลดลง พร้อมนำรถแบคโฮมาทำการขุดคันบ่อน้ำให้ต่ำลงเพื่อให้ช้างป่าที่บาดเจ็บขึ้นมาจากบ่อน้ำแต่ก็ไม่ยอมขึ้นเนื่องจากอาการเจ็บปวดบริเวณข้อพับหัวเข่า ขณะเดียวกันได้นำรถแทรกเตอร์มาปรับพื้นที่บริเวณขอบสระเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับย้ายช้างป่าขึ้นมาทำการรักษาและอำนวยความสะดวกให้สัตวแพทย์ทำงานได้สะดวกขึ้น 


“จากนั้นทีมสัตวแพทย์ได้เริ่มวางยาสลบ ใช้รถแบคโฮยกช้างที่บาดเจ็บขึ้นรถเครนมายังสถานที่จัดเตรียมรักษา โดยสัตวแพทย์ได้ล้างบาดแผลให้ ใช้เข็มดูดน้ำหนองออกจากแผลที่บวม ให้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบ แก้ปวด โดยการฉีดเข้าเส้น และน้ำเกลือเข้าเส้นบริเวณหู จำนวน 8 ขวด พร้อมทั้งให้ผลไม้ วิตามินบำรุง และได้ส่งตัวอย่างเลือดไปวิเคราะห์ที่คลินิกเซ็นทรัล แล็บ หัวหิน เพื่อหาโรคและประเมินสุขภาพของช้างป่า หลังผ่านไปนานราว 4 ชม. ช้างป่าเริ่มขยับตัวและแข็งแรงพอลุกขึ้นเดินได้ เบื้องต้นพบว่าช้างยังกินอาหารได้ โดยใช้งวงจับลูกขนุนที่เจ้าหน้าที่โยนให้กิน ยังสามารถขับถ่ายได้ตามปกติ ก่อนเดินออกจากพื้นที่หายเข้าไปในแนวป่า ทั้งนี้ทีมสัตวแพทย์ได้ลงความเห็นว่าต้องติดตามอาการช้างป่าอย่างต่อเนื่องโดยใช้โดรนบินติดตามช้างตัวดังกล่าว พร้อมจัดเจ้าหน้าที่อุทยานเฝ้าติดตามอาการตลอด 24 ชม.ด้วยความระมัดระวังเนื่องจากช้างมีสัญชาตญาณสัตว์ป่าซึ่งมีความดุร้าย รวมถึงดูแลความปลอดภัยชาวบ้านบริเวณดังกล่าวด้วย” นายพิชัย กล่าว