อุบัติเหตุวันที่ 3 เสียชีวิตอีก 67 บาดเจ็บ 642

2021-01-01 11:04:08

อุบัติเหตุวันที่ 3 เสียชีวิตอีก 67 บาดเจ็บ 642

Advertisement

อุบัติเหตุปีใหม่วันที่ 3 เสียชีวิตอีก 67 ราย บาดเจ็บ 642 คน รวม 3  วัน  ผู้เสียชีวิตรวม 186 ราย ผู้บาดเจ็บ  1,654 คน

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 แถลงว่า สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 31 ธ.ค. 2563 เกิดอุบัติเหตุ 652 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 67 ราย ผู้บาดเจ็บ 642 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (29 - 31 ธ.ค. 63) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,652 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 186 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 1,654 คน


สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 38.04 ขับรถเร็ว ร้อยละ 34.36 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.95 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 63.65 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 33.59 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 38.04 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 29.75 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 25.81 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,914 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 61,613 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 417,876 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 79,851 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 23,295 ราย ไม่มีใบขับขี่ 19,877 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (63 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (13 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (68 คน)


นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ประชาชนยังคงเฉลิมฉลองและเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้ประสานจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินงานของด่านชุมชนและจุดสกัดตามมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนควบคู่กับการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) เน้นการเรียกตรวจยานพาหนะและความพร้อมของผู้ขับขี่ รวมถึงคัดกรองวัดไข้ประชาชนก่อนเข้าพื้นที่ จากสถิติอุบัติทางถนนในช่วง 3 วันที่ผ่านมา (29 – 31 ธ.ค. 63) พบว่า พฤติกรรมเสี่ยงดื่มแล้วขับเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด จึงได้ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งเวลาจำหน่าย สถานบริการ และควบคุมไม่ให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วขับ