กาฬสินธุ์เล็งพัฒนา "ภูน้อย" แหล่งพบฟอสซิล "ปลาปอด" เป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำจังหวัด

2021-01-03 13:30:51

กาฬสินธุ์เล็งพัฒนา "ภูน้อย" แหล่งพบฟอสซิล "ปลาปอด" เป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำจังหวัด

Advertisement

ผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ต.ดินจี่ อ.คำม่วง หลังมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก “เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป” อายุ 150 ล้านปี พร้อมเตรียมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนาและผลักดันแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ จ.กาฬสินธุ์

ที่ภูน้อย ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ นายทรงพล  ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการสำรวจขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ ที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์  หลังจากที่ทีมนักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์สิรินธร สำนักงานทรัพยากรเขต 2 กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ขุดค้นพบซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก “เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป” อายุกว่า 150 ล้านปี

นายทรงพล  ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปลาปอดจัดเป็นปลาโบราณ เนื่องจากพบปรากฏเมื่อ 417 ล้านปี หรือในยุคดีโวเนียน และยังคงพบในปัจจุบัน ลักษณะของปลาปอด คือหายใจด้วยปอดร่วมกับ การหายใจด้วยเหงือก ครีบอก และครีบท้องมีลักษณะเป็นเนื้อหุ้มลําตัวปกคลุมด้วยเกล็ดแบบคอ สมอยด์ ฟันมีลักษณะเป็นแผ่นฟัน ซากดึกดําบรรพ์ปลาปอดสกุลเฟอร์กาโนเซอราโตกัส ถือว่า เป็นซากดึกดําบรรพ์ที่หายาก โดยเฉพาะส่วนกะโหลก โดยสกุลนี้พบในประเทศจีน ประเทศรัสเซีย และประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้นการค้นพบปลาปอด เฟอร์กาโนเซอราโตส แอนเคมเป ซึ่งชื่อชนิดตั้งเป็นเกียรติให้กับ ดร.แอน เคมป์ ผู้เชี่ยวชาญปลาปอดของโลก นับว่ามีความสําคัญต่อการศึกษาวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีตของปลาปอดของโลก




นายทรงพล  กล่าวต่อว่า สำหรับแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อยู่ในพื้นที่ ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ อยู่ในหมวดหินภูกระดึง กลุ่มหินโคราช ยุคจูแรสสิคตอนปลาย มีอายุประมาณ 150 ล้านปี เป็นแหล่งที่มีการสำรวจขุดค้นมามากกว่า 10 ปีแล้ว มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่หลากหลาย เช่น ฉลามน้ำจืด ปลากระดูกแข็ง ปลาปอด เต่า จระเข้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เทอโรซอร์ และไดโนเสาร์ ถือได้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก และจัดว่าเป็นแหล่งที่มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังมากที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ โดยปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีได้ประกาศให้พื้นที่ภูน้อยเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551

นายทรงพล  กล่าวอีกว่า การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก ซึ่งเป็นปลาโบราณมีอายุกว่า 150 ล้านปีครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ถูกค้นพบใหม่แล้ว ยังจะเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาด้านธรณีวิทยาของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนเพิ่มขึ้น นอกจากแหล่งเรียนรู้ไดโนเสาร์ และพิพิธภัณฑ์สิรินธร อ.สหัสขันธ์อีกด้วย ซึ่งในอนาคตทางจังหวัดจะได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนาและผลักดันแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อ.คำม่วง สู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ จ.กาฬสินธุ์ต่อไป