ปรากฏการณ์"ม็อบ นศ."ชู 3 นิ้วขับไล่"บิ๊กตู่"

2021-01-01 10:30:49

ปรากฏการณ์"ม็อบ นศ."ชู 3 นิ้วขับไล่"บิ๊กตู่"

Advertisement

"ม็อบราษฎร" รวมตัวชุมนุมขับไล่ "บิ๊กตู่" พ่วง "ปฏิรูปสถาบัน" ก่อนถูกแจ้งข้อหา ม.112 กราวรูด


อีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ไทย นั่นก็คือการทำรัฐประหารครั้งที่ 13 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ผอ.รส. ได้เรียกประชุมวุฒิสภา, ผู้แทนรัฐบาล, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, พร้อมแกนนำของพรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, นปช. และ กปปส. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กทม. เพื่อหาข้อยุตความขัดแย้งทางการเมือง แต่การประชุมดังกล่าวกลับไม่ได้คำตอบ พล.อ.ประยุทธ์ จึงประกาศทำรัฐประหารกลางที่ประชุม ก่อนควบคุมตัวผู้เข้าร่วมประชุมไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะจึงเข้าบริหารราชการแผ่นดินเองมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องความเหลื่อล้ำในสังคม ท้ายที่สุดกลุ่มนักศึกษาที่มีความเห็นตรงกันว่ารัฐบาลประยุทธ์ ควรวางมือเพื่อให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปบริหารประเทศแทน จึงรวมตัวประท้วงขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่ตกต่ำ รวมทั้งเรียกร้องให้เร่งคลี่คลายเรื่องการหายตัวไปของ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่นไหวทางการเมือง หลังมีกระแสข่าวว่าถูกอุ้มหายไปจากหน้าที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2563 นอกจากนี้กลุ่มนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่า "ม็อบราษฎร" ยังให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ โดยหนึ่งในนั้น คือ การปฏิรูปสถาบัน จนเป็นที่มาของการชู 3 นิ้ว ซึ่งแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง


วันที่ 18 ก.ค.2563 ถือเป็นการแจ้งเกิดของ "กลุ่มเยาวชนปลดแอก" ได้นัดชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยยื่น 3 ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตาม คือ หยุดคุกคามประชาชน, ยุสภาแล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และปฏิรูปสถาบัน หลังจากก่อนหน้านี้กลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย" นำโดยไมค์ ระยอง ถูกจับกุมขณะถือป้ายประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ จ.ระยอง ก่อนถูกปล่อยตัวในที่สุด


วันที่ 7 ส.ค.2563 กลุ่มนักศึกษาเปิดตัว "คณะประชาชนปลดแอก" โดยขยายแนวร่วมจาก "กลุ่มเยาวชนปลดแอก" เพื่อกระจายการชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น


วันที่ 10 ส.ค.2563 เกิดกลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" นัดชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ โดยใช้ชื่อกิจกรรม ว่า "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยไฮไลต์ที่เรียกเสียงฮือฮา คือ การปราศรัยอ่านข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบัน




วันที่ 16 ส.ค.2563 "กลุ่มคณะประชาชนปลดแอก" ประกาศนัดชุมนุมครั้งใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปรากฏว่าการชุมนุมในครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก โดยย้ำ 3 ข้อเรียกร้องเดิมกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ลาอออก และยุบสภา


วันที่ 17 ส.ค.2563 หลังการชุมนุมครั้งเพียง 1 วัน ได้เกิดปรากฏการณ์เด็กนักเรียนมัธยมที่เห็นคล้อยตามกับกลุ่มกลุ่มคณะประชาชนปลดแอก พากัน "ชูสามนิ้ว" ขณะเข้าแถวเคารพธงชาติ พร้อมติดโบสีขาวเพื่อต่อต้านเผด็จการ


วันที่ 19 ก.ย.2563 ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของการชุมนุม โดย "กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" นัดรวมตัวจัดกิจกรรมโดยใช้ชื่อว่า "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" ที่ท้องสนามหลวง โดยปักหลักค้างคืน เช้าที่รุ่งเช้าของวันที่ 20 ก.ย.2563 กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำพิธี "ปักหมุดคณะราษฎร 2563" กลางท้องสนามหลวง ก่อนเคลื่อนขบวนไปยื่นจดหมายถึงองคมนตรี เพื่อเรียกร้องให้เกิดการการปฏิรูปสถาบัน แต่ถูกตำรวจสกัดเอาไว้ จึงยื่นผ่าน ผบช.น.แทน ก่อนประกาศชัยชนะ แล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน


วันที่ 22 ก.ย.2563 "กลุ่มไอลอว์" นัดรวมตัวชุมนุมที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเตาปูน แล้วเดินเท้าไปยังรัฐสภา แยกเกียกกาย เพื่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พร้อมแนบรายชื่อประชาชนกว่า 1 แสนรายชื่อ ส่งผลให้ที่ประชุมรัฐสภา มีมติ 432 ต่อ 255 เสียง ให้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ 30 วัน และก่อนที่จะเข้าสู่เดือนตุลาคมซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางการเมือง หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น




วันที่ 13 ต.ค.2563 "กลุ่มคณะราษฎร 2563" นัดรวมตัวชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกครั้ง โดยครั้งนี้ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ รวมทั้งผู้ชุมนุมนับสิบคนจะใช้สีน้ำเงินสาดใส่ตำรวจจึงถูกควบคุมตัวไปดำเนินคดี ก่อนถูกปล่อยตัวออกมาในที่สุด


วันที่ 14 ต.ค.2563 เป็นวันที่หลายฝ่ายวิตกกังวล "กลุ่มคณะราษฎร 2563" ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย จัดชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกครั้ง ก่อนเคลื่อนขบวนไปปักหลักค้างคืนที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยเสนอ 3 ข้อเรียกร้องเดิม คือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออก ต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และปฏิรูปสถาบัน


วันที่ 15 ต.ค.2563 หลังจาก "กลุ่มคณะราษฎร 2563" ชุมนุนใหญ่ก่อนปักหลักค้างคืนที่หน้าทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก่อนเจ้าหน้าที่จะเข้าสลายการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้ามืด พร้อมจับกุมแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 3 คน คือ นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ไปดำเนินคดี


วันที่ 16 ต.ค.2563 "กลุ่มคณะราษฎร" นัดชุมนุมที่แยกปทุมวัน ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชน เข้าร่วมชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก สุดท้ายตำรวจใช้เครื่องขยายเสียงประกาศขอให้ยุติการชุมนุมเนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย สุดท้ายตำรวจต้องใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ฉีดน้ำผสมสีเข้าใส่ผู้ชุมนุม เป็นประให้กลุ่มผู้ชุมนุมต่างวิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิง ตำรวจจึงเข้ายึดพื้นสำเร็จ


วันที่ 17-18 ต.ค.2563 "กลุ่มคณะราษฎร 2563" มีมติร่วมกันให้เป็นชื่อเป็น "กลุ่มราษฎร" เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการชุมนุม คือ ให้ทุกคนเป็นแกนนำ จากนั้นใชแผนกระจายการชุมนุมตามหัวเมืองใหญ่ หรือการจัดแฟลชม็อบใน กทม. คือ บริเวณห้าแยกลาดพร้าว สถานีรถไฟฟ้าอุดมสุข วงเวียนใหญ่ แยกอโศก และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยนัดหมายการชุมนุมผ่านแอพพลิเคชั่น และเข้าร่วมชุมนุมแบบไร้แกนนำ


วันที่ 21 ต.ค.2563 "กลุ่มราษฎร" นัดรวมตัวชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนนำจดหมายลาออกไปยื่นให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมขีดเส้นตายให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามในหนังสือลาออก และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกตำรวจจับกุมภายใน 3 วัน โดยมี น.ส.ภัทราวลี หรือน้องมายด์ เป็นคนอ่านเนื้อหาในจดหมาย ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายถอยคนละก้าว จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมอีกครั้ง




วันที่ 27 ต.ค.2563 กลุ่มแสดงพลังปกป้องสถาบัน นำโดย "อุ๊ หฤทัย" นัดรวมตัวที่หน้าสถานทูตสหรัฐฯ เพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯ ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย โดยระบุว่าต่างชาติอยู่เบื้องหลังการโจมตีสถาบัน จากนั้น นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มคนเสื้อเหลือง ได้นัดชุมนุมกันที่สวนลุมพินี กทม.


วันที่ 17 พ.ย.2563 "กลุ่มราษฎร" เคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยนัดชุมนุมใหญ่ที่หน้ารัฐสภา เพื่อกดดันการพิจารณาร่างแก้ไข รธน.7 ฉบับ แต่เดินเกมสับขาหลอกโดยไม่ได้ไปชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา ตามที่ได้นัดชุมนุมไว้ก่อนหน้านี้ จากนั้นรัฐสภา มีมติรับร่างหลักการวาระที่ 1 โดยผ่านร่างแก้ไข รธน.2 ฉบับ ส่วนอีก 5 ฉบับตกไป รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์"


วันที่ 25 พ.ย.2563 "กลุ่มราษฎร" นัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ถนนพหลโยธิน กทม. พร้อมประกาศมี "บิ๊กเซอร์ไพร์ส" แต่สุดท้ายกลับไม่มี บิ๊กเซอร์ไพร์ส ตามที่มีกระแสข่าว ก่อนที่แกนนำจะประกาศว่ายุติการชุมนุม


วันที่ 27 พ.ย.2563 "กลุ่มราษฎร" นัดชุมนุมใหญ่ที่ห้าแยกลาดพร้าว โดยทำกิจกรรม "ซ้อมต้านรัฐประหาร" โดยหยิบยกเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ ตีตกวินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงพักอยู่ในบ้านพักทหาร พร้อมเรียกร้องให้มีการยกเลิก ม.112 หลังมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะใช้กฎหมายดังกล่าวดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม


วันที่ 2 ธ.ค.2563 "กลุ่มราษฎร" รวมตัวชุมใหญ่อีกครั้งที่ห้าแยกลาดพร้าว เพื่อร่วมกันฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะวินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ อยู่บ้านพักหลวง สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความผิด และสามารถอยู่บ้านพักหลวงได้ เนื่องจากทำคุณงามความดีให้กับประเทศ


วันที่ 10 ธ.ค.2563 เป็นที่จับตาของหลายฝ่ายเนื่องจากตรงกับวันรัฐธรรมนูญ ซึ่ง "กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ยึดเอาวันดังกล่าวนัดชุมนุมจัดกิจกรรมโดยใช้ชื่อว่า "ยกเลิก 112 สิ แล้วเราจะเล่าให้ฟัง" โดยการชุมนุมในครั้งนั้นถือเป็นครั้งสุดท้ายของปี 2563 ก่อนที่แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมหลายรายต้องเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้ที่ตำรวจเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในหลายคดี โดยเฉพาะข้อหากระทำผิดกฎหมายอาญา ตาม มาตรา 112 ซึ่งมีอัตราโทษสูง


อย่างไรก็ตาม แกนนำกลุ่มราษฎร ซึ่งประกาศยุติการชุมนุมในปี 2563 ก่อนยืนยันว่าจะกลับมาชุมนุมใหม่ในปี 2564 โดยมั่นใจว่าจะสามารถทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก และเกิดการปฏิรูปสถาบัน ได้อย่างแน่นอน ซึ่งคงต้องจับตาดูกันว่าในปี 2564 กลุ่มราษฎร จะเดินเกมอย่างไร เพื่อให้รัฐบาลทำตาม 3 ข้อเรียกร้อง และจะมีแกนนำกี่รายที่ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 เพิ่มเติมเพื่อสกัดกั้นการชุมนุมไม่ให้ลุกลามบานปลาย