ตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับวัยทำงาน

2021-01-02 17:30:42

ตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับวัยทำงาน

Advertisement

ตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับวัยทำงาน

หลังจากทำงานหนักมาทั้งปี ทำให้หลาย ๆ ท่านไม่มีเวลาดูแลสุขภาพตัวเอง อาจทำให้มีทรุดป่วยไปบ้าง ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจำปีจึงมีความสำคัญเพื่ออัพเดทสุขภาพตนเองว่าเป็นอย่างไร เพราะการป้องกันง่ายกว่าการรักษาทีหลัง วันนี้มีสาระน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพของคนวัยทำงานว่าทำไมต้องตรวจ ? ตรวจอะไรบ้าง ? มาแบ่งปันกัน 

ทำไมถึงต้องตรวจสุขภาพประจำปี 

“สุขภาพดี” คือ ความต้องการและความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ที่มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อมรอบตัว  ถ้ามนุษย์ต้องการมีสุขภาพที่ดี นอกเหนือจากการออกกำลังกาย การนอนหลับให้เพียงพอ และการรับประทานอาหารที่ดีนั้นยังคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการตรวจคัดกรองสุขภาพของตนเอง เนื่องจากโรคและความเจ็บป่วยต่าง ๆ อาจเข้ามาโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าจะดูแลร่างกายเป็นอย่างดี และด้วยเหตุผลด้านอายุ ความเสื่อมของร่างกาย การสัมผัสสิ่งคุกคามจากสิ่งแวดล้อม รวมถึงพันธุกรรมในครอบครัวแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ย่อมส่งผลทำให้เกิดโรคได้โดยไม่มีสัญญาณเตือนหรือบอกกล่าวให้ทราบล่วงหน้า โดยเฉพาะบางคนที่ทำงานจนไม่มีเวลาและไม่ได้สังเกตตนเอง เมื่อทราบอีกทีก็มีอาการมากจนอาจสายเกินไป 

วัยทำงาน (ช่วงอายุ 20 – 60 ปี) จำเป็นต้องตรวจอะไรบ้าง คุณหมอแนะนำการตรวจสุขภาพทั่วไป ดังนี้ 

ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) เป็นการตรวจเพื่อดูลักษณะของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดว่าสมบูรณ์ดีหรือไม่ เช่น มีภาวะโลหิตจางหรือไม่ และมีภาวะการอักเสบเกิดขึ้นในร่างกายหรือไม่ เป็นต้น 

ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar) เป็นการตรวจเพื่อดูความเสี่ยงของโรคเบาหวาน ในบุคคลอายุระหว่าง  40 – 70 ปี 

ตรวจระดับไขมันในเลือด (Lipid Profiles) เป็นการตรวจเพื่อดูความเสี่ยงของหลอดเลือดและหัวใจ ถ้ามีปริมาณมาก ก็จะมีความเสี่ยงของหลอดเลือดและหัวใจมากขึ้น 

ตรวจการทำงานของตับและไต เนื่องจากอวัยวะทั้งสองมีหน้าที่ในการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย สร้างสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย ถ้าค่าการทำงานของตับและไตปกติ ก็จะสามารถบอกถึงความสามารถในการกำจัดของเสียออกจากร่างกายที่ปกติ แต่ถ้าค่าผิดปกติ ก็จำเป็นจะต้องดูสาเหตุของการทำงานที่ผิดปกติโดยแพทย์อีกครั้ง 

ตรวจสุขภาพเพิ่มเติม 

เพศชาย – แนะนำให้เพิ่มการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ในบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุตั้งแต่ 55 – 69 ปี 

เพศหญิง – แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ในอายุมากกว่า 35 ปี หรือผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว อันเนื่องมาจากความเสี่ยงของการรับเชื้อไวรัส HPV รวมถึงการคัดกรองมะเร็งเต้านม แนะนำให้เข้ารับการตรวจแมมโมแกรม(การเอกซเรย์เต้านมด้วยปริมาณรังสีขนาดต่ำ) ในหญิงอายุระหว่าง 50 – 74 ปี 

นอกจากนั้น คนวัยทำงานที่ทำงานในสถานประกอบการยังจำเป็นต้องตรวจคัดกรองความเสี่ยงจากการทำงาน เช่น การสัมผัสฝุ่น สารเคมี โลหะหนักบางชนิด หรือการสัมผัสเสียงดัง โดยแนะนำให้ตรวจตามความเสี่ยงรายแผนก หรือเฉพาะบุคคล นอกจากจะเป็นการตรวจเพื่อคัดกรองและป้องกันความเสี่ยงแล้ว ยังเป็นการตรวจเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายกำหนดไว้อีกด้วย

ผศ. นพ.จาตุรนต์ ตั้งสังวรธรรมะ  โรงเรียนแพทย์รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ 

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล