"หมอธีระ" ชี้โควิด-19 วิกฤติมีแนวโน้มคุมได้ยาก

2020-12-27 20:55:34

"หมอธีระ" ชี้โควิด-19 วิกฤติมีแนวโน้มคุมได้ยาก

Advertisement

"หมอธีระ" ชี้สถานการณ์โควิด-19 ระบาดในปัจจุบันวิกฤติมาก มีแนวโน้มคุมได้ยาก หากไทยไม่สามารถจัดการได้ภายในกลาง ม.ค. จำนวนการติดเชื้อจะถีบตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถคุมได้ อาจพบการติดเชื้อต่อวันสูงกว่าระลอกแรก 5 เท่า ประมาณ 940 คนต่อวัน ใช้เวลาควบคุมนาน 3 เดือน

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.  รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โพสต์ข้อความผ่านเพจ  Thira Woratanara วิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 ระบุว่า

1. ประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ระบาดซ้ำ/รอบสอง/ระลอกสอง/ครั้งใหม่/อีกครั้ง อย่างชัดเจนแน่นอน

2. ระบาดซ้ำครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามาแบบไม่ทันตั้งตัว แรง กระจายเร็ว หาต้นตอลำบาก และภาพรวมดูรุนแรงกว่าระลอกแรก สอดคล้องกับประสบการณ์การระบาดของทั่วโลกที่เจอมาก่อน

3. ระบาดซ้ำครั้งนี้ต่างจากระลอกแรก เพราะไม่ใช่แค่มีกลุ่มเสี่ยงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบบครั้งแรกที่เห็นในผับ บาร์หรือสนามมวย แต่รอบนี้มีมากมายหลายกลุ่ม (multiple clusters) และแต่ละกลุ่มแพร่กระจายวงกว้าง เป็น multiple superspreading events ทำให้เปลี่ยนจากเดิมที่เห็นกลุ่มเสี่ยงชัดเจน แต่ตอนนี้คือ แพร่กระจายไปทั่ว และทำให้ทุกคนล้วนมีความเสี่ยง (Everyone is at risk) โดยเสี่ยงทั้งที่จะติดเชื้อจากการดำรงชีวิตประจำวันในสังคม (Risk to get infected) และเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัวว่าตนเองนั้นมีเชื้อไวรัสอยู่ (Risk to spread)

4. ปัญหาของระบบตรวจและรายงานการติดเชื้อที่ตอบสนองต่อการระบาดได้ไม่ดีนัก เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การรายงานเคสติดเชื้อที่ไม่สอดคล้องระหว่างหน่วยงานกลางและระดับพื้นที่ และการรายงานนั้นดูจะไม่ทันต่อสถานการณ์ ทำให้ส่งผลต่อการรับรู้ ความเชื่อมั่น และที่สำคัญคือทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่สามารถเตรียมตัวรับมือกับการระบาดได้

5. ระบบบริการตรวจโควิดของประเทศไทยนั้นไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการยามที่เกิดโรคระบาดซ้ำ เพราะพบปัญหาการตรวจได้จำนวนไม่มากนัก มีปัญหาคอขวด รวมถึงกฎเกณฑ์ในการตรวจและการเบิกจ่าย ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ และหลายคนก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจเองหากไม่ตรงกับเกณฑ์ ทั้งๆ ที่สถานการณ์ปัจจุบันนั้น ทุกคนล้วนมีความเสี่ยง และควรได้รับสิทธิในการตรวจเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวเองในการปฏิบัติตัว และต่อคนอื่นในสังคม ภายใต้สัจธรรมที่ว่า ไม่มีใครอยากไปดิ้นรนให้คนแยงจมูกลึกๆ แถมต้องหยุดเรียนหยุดงานและเดินทางไปถึงสถานที่ตรวจโดยไม่จำเป็น

6. เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นว่า สถานการณ์การระบาดนั้นกระจายเร็ว และมากเกินกว่าที่ระบบการติดตามสอบสวนโรคจะรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องการได้ประวัติ การทราบตัวบุคคลที่สัมผัสความเสี่ยงอย่างครบถ้วน และการได้ข้อมูลละเอียดให้ทันเวลา เราจึงเห็นการประกาศสู่สาธารณะให้คนประเมินตัวเองและมารายงานต่อหน่วยงานรัฐถี่ขึ้นเรื่อยๆ

สรุป: "สถานการณ์การระบาดในปัจจุบันวิกฤติมาก และมีแนวโน้มจะคุมได้ยาก"

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น: จากประสบการณ์ของต่างประเทศที่ระบาดซ้ำ หากไทยเราไม่สามารถจัดการการระบาดนี้ได้ภายในกลางม.ค. (4 สัปดาห์นับจากเริ่มระบาดซ้ำ) จำนวนการติดเชื้อจะมีแนวโน้มถีบตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถจะคุมได้อีก และอาจพบจำนวนการติดเชื้อต่อวันสูงกว่าระลอกแรก 5 เท่า คือประมาณ 940 คนต่อวัน และใช้เวลาในการควบคุมการระบาดยาวนานกว่าเดิม 2 เท่า คือ 88 วัน หรือ 3 เดือน

ทั้งนี้หากเข้าสู่แนวทางการระบาดดังกล่าวข้างต้น มาตรการเดิมที่เคยใช้ได้ผลในระลอกแรก เช่น การล็อกดาวน์ หรืออื่นๆ จะได้ผลตอบสนองที่ช้าลงกว่าเดิม และส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่ และต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวสิ่งที่ควรพิจารณาดำเนินการตอนนี้ มีดังนี้

1. ดำเนินมาตรการเข้มข้นใน"ทุกจังหวัดที่มีรายงานเคสติดเชื้อ" ไม่ว่าจะสีใดก็ตาม โดยขอความร่วมมือจากประชาชนให้ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อบ้านเกิด" ตั้งแต่บัดนี้จนถึงกลางเดือน ม.ค. 2564

2. รณรงค์ใช้นโยบาย "ใส่หน้ากาก 100 เปอร์เซ็นต์" พร้อมบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนตามที่แต่ละพื้นที่ตกลงกันเอง โดยพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ

3. ตั้งด่านคัดกรองทุกจังหวัด และรณรงค์ให้งดการเดินทางระหว่างจังหวัดโดยไม่จำเป็น

4. ปิดกิจการเสี่ยงต่างๆ และงดการจัดงานที่มีการรวมคนจำนวนมากทั่วประเทศ

5. กิจการอาหารและเครื่องดื่ม ให้เปิดบริการแบบซื้อกลับบ้าน หรือบริการส่งถึงบ้าน ไม่ควรนั่งในร้าน

6. รณรงค์"การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างมีสติและระมัดระวัง" (Travel with caution) จนถึงกลางเดือนมกราคม 2564...โดยต้องเลี่ยงการโฆษณาว่าท่องเที่ยวแล้วปลอดภัย เพราะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเสี่ยงกระจายตัวและยากที่จะการันตีความปลอดภัย

7. รณรงค์"เคานท์ดาวน์ปีใหม่ที่บ้าน" ในรูปแบบต่างๆ พร้อมกันทั่วประเทศ (หมายรวมถึงสวดมนต์ข้ามปี และกิจกรรมอื่นๆ ผ่านทางออนไลน์)

8. รณรงค์ให้ประชาชนสังเกตอาการตนเองและสมาชิกในครอบครัว หากมีอาการไม่สบายคล้ายไข้หวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ หรือท้องเสีย ให้โทรศัพท์ปรึกษาศูนย์บริการสาธารณสุขหรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อนัดหมายตรวจคัดกรองโควิด
9. ปรับระบบรายงานการติดเชื้อใหม่ให้เป็นแบบ real time เพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้รับทราบสถานการณ์ของพิ้นที่ตนเอง

10. งดการประชาสัมพันธ์เรื่องความเพียงพอของระบบสาธารณสุข เพราะขัดต่อหลักความเป็นจริงที่เห็นจากทั่วโลกว่าการระบาดที่รุนแรงนั้นมักเกินขีดความสามารถของระบบที่มี ดังนั้นจึงต้องเน้นย้ำให้"ป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ"

นอกจากนี้ยา Favipiravir ที่มีอยู่ 500,000 เม็ดนั้น พอสำหรับการรักษาคนเพียง 7,000 กว่าคน ซึ่งหากระบาดซ้ำแบบประเทศอื่นๆ จะมีโอกาสที่ไทยจะติดเชื้อราว 23,000-33,000 คน หรือมากกว่านั้นได้ เหนืออื่นใดต้องแจ้งให้ประชาชนทราบด้วยว่า ยา Favipiravir นั้นมีข้อมูลทางการเแพทย์ที่ยังไม่เพียงพอที่จะฟันธงได้ว่าสามารถรักษาโรคได้ผลดีจริง โดยข้อมูลที่มีอยู่นั้นมาจากงานวิจัยที่ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น จำนวนผู้ป่วย รูปแบบการวิจัย ฯลฯ จึงถือว่าเป็นยาที่มีบางประเทศเลือกใช้อยู่ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในเรื่องทางเลือกของการรักษา

วิกฤติครั้งนี้ หากเราร่วมแรงร่วมใจช่วยกันสู้ ยังมีสิทธิที่จะบรรเทาผลกระทบจากการระบาดซ้ำนี้ได้ครับ สู้ๆ นะครับ ด้วยรักต่อทุกคน

ขอบคุณเพจ Thira Woratanara