มช.เจ๋งผลิตพลาสติกชีวภาพใช้ทางการแพทย์

2017-10-30 17:15:48

มช.เจ๋งผลิตพลาสติกชีวภาพใช้ทางการแพทย์

Advertisement

มช.ประสบความสำเร็จเปิดห้องผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ แห่งแรกของประเทศไทย ใช้วัตถุดิบเป็นพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศ

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 30 ต.ค. ผศ.ดร.วินิตา บุณโยดม หัวหน้าห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าทีมวิจัย รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดร.วิวรรณ ธรรมมงคล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการปิโตรเลียมและปิโตรเคมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายฉัตวิทัย ตันตราภรณ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทูปซุส ประเทศไทย จำกัด ได้ร่วมกันแถลงข่าวงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จและการเปิดห้องผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ แห่งแรกของประเทศไทย ลดต้นทุนการนำเข้าเมล็ดพลาสติกทางการแพทย์จากต่างประเทศได้ 100เปอร์เซ็นต์ พร้อมมอบใบรับรองระบบการจัดการคุณภาพ ISO 13485 สำหรับห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผศ.ดร. วินิตา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องสั่งซื้อ “เม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” มาจากต่างประเทศและนำมาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์พร้อมใช้ ซึ่งอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมปลายน้ำของพลาสติกที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงมาก มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แนวโน้มการขยายตัวคาดว่าจะต่อเนื่องไปในอนาคต เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องการการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตพลาสติกและนวัตกรรมใหม่ในการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ คณะผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตพอลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเกรดทางการแพทย์ โดยใช้วัตถุดิบชีวมวลที่เป็นพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นมูลค่าต่ำในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบภายในประเทศ โดยนำไปใช้เป็นเม็ดพลาสติกสำหรับผลิตวัสดุทางการแพทย์ หรือเครื่องมือแพทย์ วัสดุเหล่านี้สามารถย่อยสลายได้ในร่างกายผู้ป่วย ไม่ต้องผ่าตัดนำออกมาจากร่างกาย ด้วยเหตุดังกล่าว มช. ร่วมกับ วช. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงได้ร่วมมือกันสนับสนุนงบประมาณเป็นเงิน 28 ล้านบาท เพื่อสร้าง “ห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการต้นแบบผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์คุณภาพสูงมาตรฐานสากลแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ดำเนินการโดยนักวิจัยไทย




นอกจากนี้ยังทำให้นักวิจัยในประเทศไทยรวมทั้งผู้ประกอบการด้านวัสดุทางการแพทย์สามารถซื้อเม็ดพลาสติกได้กิโลกรัมละประมาณ 80,000-90,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าสั่งซื้อจากต่างประเทศซึ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 150,000-200,000 บาท จึงเป็นโอกาสดีที่จะผลิตเพื่อส่งออกและชดเชยการนำเข้าและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับภายใต้มาตรฐานสากล ขณะนี้อยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ทดสอบตลาด ซึ่งหากมีผู้สนใจนำเม็ดพลาสติกชีวภาพไปวิจัยและพัฒนาขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์สามารถติดต่อซื้อได้ที่อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช. โดยปัจจุบันคณะผู้วิจัยร่วมมือกับทีมแพทย์และสัตวแพทย์ ในการนำเม็ดพลาสติกชีวภาพดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดโดยการขึ้นรูปเป็นไหมเย็บแผลที่ละลายได้ ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ด้วยปฏิกิริยาไฮโดรไลซิสโดยระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย จึงช่วยลดขั้นตอนในการรักษา ทำให้ไม่ต้องทำการผ่าตัดซ้ำ ผู้ป่วยไม่ต้อง เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและไม่ต้องทนเจ็บปวดหลายครั้ง ทั้งนี้สามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ 100 เปอร์เซ็นต์ นับว่าเป็นการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล 4.0 ในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่จากพื้นฐานของงานวิจัยและเทคโนโลยีของคนไทย