หนึ่งเดียวในโลก ชาวลุ่มน้ำสงคราม “ประกวดหุ่นปลายักษ์” สวยสมจริง (คลิป)

2020-12-16 16:35:07

หนึ่งเดียวในโลก ชาวลุ่มน้ำสงคราม “ประกวดหุ่นปลายักษ์” สวยสมจริง (คลิป)

Advertisement

แห่งเดียวในโลก ชาวลุ่มน้ำสงคราม ประกวดหุ่นปลายักษ์ สวยสมจริง “ครูแก้ว” ผลักดันจัดงานมาร่วม 20 ปี นำชุมชนเร่งแก้ปัญหาปลาสูญพันธุ์

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่อำเภอศรีสงคราม จ.นครพนม นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย นำข้าราชการ พี่น้องประชาชน ชาวลุ่มน้ำสงคราม ตลอดจนประชาชน นักท่องเที่ยว ร่วมเปิดงาน “มหกรรมเทศกาลปลาลุ่มน้ำสงคราม ครั้งที่ 20” จัดโดย อ.ศรีสงคราม ร่วมกับชาวลุ่มน้ำสงคราม เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีท้องถิ่น อนุรักษ์วิถีชีวิต เกี่ยวกับชาวลุ่มน้ำสงคราม ที่มีความผูกพันกับลำน้ำสงครามมายาวนาน ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาสายหลักของแม่น้ำโขง และยังเป็นพื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม แหล่งขยายพันธุ์ปลาน้ำโขง ขนาดใหญ่ที่สุดของอีสาน รวมถึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และส่งเสริมการสร้างรายได้จากอาชีพประมง ตลอดจนสร้างจิตสำนึกให้ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และพันธุ์ปลาในลุ่มน้ำสงคราม เนื่องจากปัจจุบันน้ำโขงวิกฤติทำให้ปลาเริ่มสูญพันธุ์ หลังพิธีเปิดได้มีนางรำกว่า 500 คน จากชนเผ่าต่างๆ ร่วมฟ้อนรำ แสดงถึงประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น

สำหรับการจัดงานปีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 -18 ธ.ค. 63 ภายในงานจะมีไฮไลท์สำคัญ คือจัดประกวดหุ่นปลายักษ์ ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โชว์ตลอดงาน โดยความร่วมมือของชาวบ้านลุ่มน้ำสงคราม รวม 10 ตำบล ในการประดิษฐ์ตกแต่งปลาขนาดยักษ์ชนิดต่างๆ ที่มีในลำน้ำสงคราม อาทิ ปลาตะเพียนขาว ปลาตองกาย ปลายี่สก ปลาคัง ปลาบึก ปลาอีไท ซึ่งทำโครงสร้างด้วยเหล็ก ประดับตกแต่งให้คล้ายปลาสมจริงที่สุด ด้วยกระดาษและพลาสติก ทั้งสีสัน ลวดลายสมจริง ที่สำคัญ ยังมีการติดตั้งระบบไฟฟ้า ให้เคลื่อนไหวได้สมจริง พร้อมจัดขบวนแห่โชว์ ควบคู่กับการแสดงวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น สร้างความตื่นตา ให้ประชาชน นักท่องเที่ยว มาเที่ยวชมงานทุกปี นอกจากนี้ยังมีการจัดซุ้มแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ของชาวลุ่มน้ำสงคราม แบบในอดีต ให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้ศึกษาเที่ยวชม ซึ่งงานมหกรรมเทศกาลปลาลุ่มน้ำสงคราม ได้จัดสืบทอดมาเป็นเวลาถึง 20 ปี




นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย ในฐานะบ้านเกิดเป็นชาว อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เปิดเผยว่า เริ่มจากช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ตนเคยเป็นข้าราชการครู และเคยเป็นประธานสภาวัฒนธรรม ก่อนที่จะมาเส้นทางการเมือง เคยมีวิถีชีวิตเป็นชาวไร่ชาวนา และอยู่กับลุ่มน้ำสงคราม พ่อแม่ หาปลา ทำประมงเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากลุ่มน้ำสงครามฤดูฝนน้ำท่วม ต้องหาปลาเป็นอาชีพ ทำนาได้เพียงฤดูแล้ง รายได้หลักคือ หาปลา ทำประมง สร้างรายได้ จึงเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น จนมีการหารือริเริ่มจัดงานมหกรรมเทศกาลปลาลุ่มน้ำสงคราม มาตั้งแต่ปี 2543 รวมเป็นเวลา 20 ปี เพราะอยากให้ชาวบ้าน คงวิถีชีวิตชาวลุ่มน้ำไว้ อีกทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้เป็นที่รู้จัก ที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้ ชาว อ.ศรีสงคราม ที่สำคัญปัจจุบันธรรมชาติเปลี่ยนแปลง ได้รับผลกระทบจากน้ำโขงมากขึ้น ทำให้พันธุ์ปลาน้อยลง ป่าบุ่งป่าทามถูกทำลาย จึงต้องมีการวางแนวทางสร้างจิตสำนึกให้มาร่วมกันอนุรักษ์ รวมถึงจัดงานขึ้น เป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้าน ร่วมกันหวงแหน ล่าสุดได้หารือร่วมกับชาวลุ่มน้ำสงคราม จัดทำวังปลาหน้าวัดที่ติดลำน้ำ เป็นเขตอภัยทาน งดจับปลา เพื่อลดปัญหาสูญพันธุ์ และหาทางขยายพันธุ์ปลาพัฒนาแหล่งน้ำ ในอนาคตจะผลักดันให้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ท่องเที่ยวประจำปี และบันทึกไว้ในปฏิทินการท่องเที่ยวของ ททท.ในอนาคต และจะมีการพัฒนาตลาดปลาน้ำโขงครบวงจร ให้เลิกซื้อไปรับประทานได้ตลอดปี เพราะปัจจุบันถือเป็นอำเภอที่มีตลาดปลาใหญ่ที่สุด รวมถึงมีการแปรรูปปลา จำหน่าย ทุกรูปแบบ ทั้งปลาแห้ง ปลาส้ม ปลาร้า ขายตลอดปี