"เทพไท"เปรียบซักฟอกประหารชีวิตทางการเมือง

2020-12-15 13:20:03

"เทพไท"เปรียบซักฟอกประหารชีวิตทางการเมือง

Advertisement

"เทพไท"ระบุอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นการพิพากษาประหารชีวิตทางการเมือง ชี้ 4 ปัจจัย จะทำให้รัฐบาลไปต่อหรือไม่

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีบางคนว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นกลไกการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มีต่อฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและเป็นวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย ส่วนการที่สมาชิกพรรคฝ่ายค้านออกมาขู่ว่ามีข้อมูลเด็ด อาจทำให้ถึงขั้นช็อกได้นั้น เป็นการโหมโรง ตีปีบโฆษณา สร้างกระแส หรือปล่อยข่าว ก่อนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเรื่องปกติทางการเมือง ที่ต้องการเรียกร้องความสนใจจากประชาชนให้ได้ติดตามศึกการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ในความเป็นจริงนั้น ข้อเท็จจริงทั้งหมดจะมีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน ก็อยู่ที่วันเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่าจะเป็นของจริง หรือแค่ราคาคุย ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ที่องค์ประกอบของ 4 ฝ่าย คือ 1.ตัวผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจ จะต้องเตรียมข้อมูลที่ชัดเจน เพื่ออภิปรายชี้ชัดให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้เห็นถึงข้อบกพร่องในการปฎิบัติหน้าที่ และเปิดหลักฐานการทุจริตคอร์รัปชันต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสามารถเปิดเผยได้อย่างเต็มที่ เพราะการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร มีเอกสิทธิ์คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถนำมาฟ้องร้องดำเนินคดีได้ 2.ตัวนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะต้องเตรียมตอบคำอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน โดยนำข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเข้ามาหักล้าง ตามที่ถูกกล่าวหา ซึ่งสามารถชี้แจงด้วยตัวเองได้ในทันที ไม่จำเป็นต้องมีตัวช่วย หรือสร้างองครักษ์ไว้พิทักษ์ในการอภิปราย เพราะเวทีแห่งนี้ไม่จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยง 3.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด จะต้องเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจ วิจารณญานในการตัดสินใจลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยตัวเอง จะต้องชั่งน้ำหนักเหตุผล ระหว่างข้อมูลของผู้อภิปราย กับคำตอบของผู้ถูกอภิปรายว่า ข้อมูลของฝ่ายใดมีน้ำหนักความน่าเชื่อถือมากกว่ากัน และต้องใช้เอกสิทธิ์ของตัวเองในการลงมติโดยอิสระ ปราศจากการครอบงำใดๆ 4.ภาคประชาชนคนไทยที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง ก็สามารถให้คะแนนการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ แม้ว่าจะเป็นคะแนนเสียงนอกสภา ไม่ผลทางกฎหมายก็ตาม ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาแม้ว่าฝ่ายรัฐบาลจะชนะเสียงโหวตในสภาก็ตาม แต่ถ้าข้อมูลของรัฐบาลสวนกระแสความรู้สึกของประชาชน รัฐบาลก็ไม่สามารถที่จะบริหารประเทศต่อไปได้ ดังนั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้ง มีความสำคัญและมีความหมายทางการเมืองทั้งสิ้น เพราะเป็นมาตรการขั้นรุนแรงที่สุดทางการเมืองในการตรวจสอบรัฐบาล เปรียบเสมือนการพิพากษาประหารชีวิตทางการเมืองของรัฐบาลในทุกยุคทุกสมัย