“เผ่าภูมิ” ชงแนวคิด “ธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว”

2020-12-06 13:30:53

“เผ่าภูมิ” ชงแนวคิด “ธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว”

Advertisement

“เผ่าภูมิ” ชงแนวคิด “ธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว” ดูสินเชื่อและทิศทางพัฒนาท่องเที่ยวทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ผอ.ศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทย และทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ภาคท่องเที่ยวเป็นภาคการผลิตที่ใหญ่และสำคัญมากของไทย ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานไปหลายภาคส่วน การจ้างงานจำนวนมหาศาลในวงกว้าง และเป็นอนาคตของไทย แต่ภาคท่องเที่ยวมีลักษณะจำเพาะ เพราะลักษณะธุรกิจมีความไม่เป็นทางการสูง เป็นรายย่อยสูง และมีความไม่แน่นอนสูง เช่น ร้านนวดสปาริมถนน โต๊ะทัวร์ เรือท้องแบนดูปะการัง เป็นต้น ซึ่งทำให้เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบธนาคารปกติรวมถึงพวก Soft Loan จึงล้มตายกันมากในช่วงโควิด-19 และกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยหรือกองทุนอื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่ทางออกที่ดี ผมเห็นความจำเป็นที่เราจะต้องคิดใหญ่กว่านั้น ที่จะต้องมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจขึ้นมาดูแลภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ หรือ “ธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว” ทั้งในแง่สินเชื่อในวิกฤตินี้และวิกฤติอื่นๆ ในอนาคต เพราะความเข้าใจในสินเชื่อลักษณะจำเพาะของภาคการท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ มากกกว่านั้น “ธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว” ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลจะส่งผ่านมาตรการภาครัฐผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจไปสู่ภาคท่องเที่ยว อย่างที่เรามี ธกส. ไว้รองรับมาตรการการเกษตรใหญ่ๆ ช่วยเกษตรกรตลอดมา มีธนาคารอาคารสงเคราะห์ ไว้รองรับมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ และในอดีตสมัยพรรคไทยรักไทยได้ก่อตั้ง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME bank ขึ้น ซึ่งตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จของ SMEs ไทยในวันนี้

ดร.เผ่าภูมิ  กล่าวต่อว่า “ธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว” จะยังเป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย ที่ปัจจุบันยังไร้ทิศทาง ยกตัวอย่าง หากเราต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เราสามารถใช้ “ทิศทางการให้สินเชื่อ” และมาตรการภาครัฐ เพื่อชี้นำการพัฒนาท่องเที่ยวในลักษณะท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ ในพื้นที่ที่ต้องการได้ ในแบบที่ต้องการผลักดันได้ โดยสรุป ผมมอง “ธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว” เป็นเครื่องมือด้านสินเชื่อรองรับวิกฤติในระยะสั้น และมองเป็นเครื่องมือในการกำหนด “ทิศทางการพัฒนา” ภาคท่องเที่ยวทั้งระบบในระยะยาว