"กยท." จัดเวทีสัมมนาการพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยางไทย

2020-12-04 18:05:08

"กยท." จัดเวทีสัมมนาการพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยางไทย

Advertisement

กยท.จัดเวทีสัมมนาการพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยางไทย ถก แนวทางผลักดันถุงมือยางธรรมชาติ หนุนนโยบาย Hub of Natural Rubber Glove


วันนี้(4 ธ.ค63) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดงานสัมมนาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยางของประเทศไทย หนุนนโยบาย Hub of Natural Rubber Glove ผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติ ณ ห้องประชุมราชไมตรี การยางแห่งประเทศไทย บางขุนนนท์ กรุงเทพฯ





นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ที่ขยายทั่วโลก ทำให้ปริมาณการใช้ถุงมือยางเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านการแพทย์ การสาธารณสุข รวมถึงการใช้ถุงมือยางในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ดังนั้น เพื่อความสะอาดและความปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้น อุตสาหกรรมถุงมือยางจึงสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าและรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางอันดับ 2 ของโลก ภาครัฐมีจึงเป้าหมายที่สำคัญ คือ การผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตถุงมือยางธรรมชาติของโลก ด้วยความได้เปรียบด้านภาพลักษณ์คุณภาพวัตถุดิบยางของไทย ทำให้หลายประเทศทั่วโลกมีความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์ยางไทย ประเด็นสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติของไทยในปัจจุบัน จึงมุ่งไปที่ 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือ ตอนนี้ประเทศไทยมีนวัตกรรมในการลดโปรตีนแพ้ในถุงมือยางธรรมชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจำเป็นต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ต้องเริ่มจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมถุงมือในประเทศไทยก่อน ซึ่งนวัตกรรมนี้ จะเป็นการสร้างโอกาสในการผลิตและการแข่งขันถุงมือยางธรรมชาติให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพต่อการใช้งานที่ดี และประเด็นที่สอง การผลักดันมาตรฐานถุงมือยาง ในกระบวนการผลิตและการขอใบรับรองทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น และเป็นการสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ดีต่อประเทศไทย และอุตสาหกรรมนี้ต่อไปในอนาคต





“อุตสาหกรรมถุงมือยางไทย จะสามารถเติบโตต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืนได้ จำเป็นต้องได้รับการบูรณาการและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การสัมมนาในครั้งนี้ จึงถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือ เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืน ให้ภาคอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติของประเทศต่อไป” ผู้ว่าการ กยท. กล่าว



​นางสาวนภาวรรณ เลขะวิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง เผยถึงสถานการณ์และสถิติการส่งออกถุงมือยาของไทย ว่า ไทยส่งออกถุงมือยางมากเป็นลำดับสองของโลก รองจากมาเลเซีย โดยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2562 ประมาณ 37,381 ล้านบาท หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค





โควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกถุงมือยางสูงถึง 20,540 ล้านคู่ (เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกัน ในปี 2562 ร้อยละ 22.08) คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 53,802 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 72.47) แบ่งเป็นถุงมือผ่าตัดประมาณ 732 ล้านคู่ คิดเป็นมูลค่า 7,407 ล้านบาท และถุงมือตรวจโรคหรือถุงมือแม่บ้านประมาณ 19,808 ล้านคู่ มูลค่า 46,395 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อเทียบตัวเลขการส่งออกถุงมือยางของไทย ปี 2562 และ ปี 2563 จะเห็นว่าปริมาณการส่งออกปี 2563 เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดย 5 อันดับแรกที่นำเข้าถุงมือยางจากไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 20,643 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.29 จากปี 2562) รองลงมาเป็นประเทศอังกฤษ มูลค่า 3,954 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 941.72 จากปี 2562) ลำดับที่สาม ประเทศญี่ปุ่น มูลค่า 2,977 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.17 จากปี 2562) ประเทศจีน มูลค่า 2,905 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 131.6 จากปี 2562) และเยอรมนี มูลค่า 2,498 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.86 จากปี 2562)





​ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) เผยว่า นักวิจัยจากหลากหลายสถาบันพยายามคิดค้นวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการแพ้โปรตีนด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งในวันนี้ MTEC ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคนิคการขจัดโปรตีนแพ้ในถุงมือยาง จากการทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ เมื่อนำถุงมือยางที่ใช้เทคนิคนี้ไปตรวจวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนแพ้ด้วยวิธีการตามมาตรฐาน ASTM D7427-16 ผลที่ได้คือปริมาณโปรตีนแพ้ที่ตรวจพบเป็นศูนย์หรือตรวจไม่พบโปรตีนแพ้เลย ในขณะที่การคำนวณต้นทุนส่วนเพิ่มในเบื้องต้นจาก Bill of Material (BOM) และขั้นตอนการดำเนินการ คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ผู้ผลิตยอมรับได้ เพื่อขยายผลผลงานวิจัยนี้ไปสู่การใช้ประโยชน์จริง จึงจะมีการทดสอบการผลิตระดับอุตสาหกรรมร่วมกับผู้ผลิต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี ร่วมพัฒนากระบวนการผลิตระดับอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนร่วมพัฒนามาตรฐานถุงมือยางที่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้โปรตีนในระดับสากล อันจะส่งผลในการพัฒนาการตลาดของถุงมือยางธรรมชาติ นอกจากนี้ หากมีการส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถุงมือยางในด้านอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งในด้านผลิตภาพ ระยะเวลา การควบคุมคุณภาพ ฯลฯ จะยิ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมถุงมือยางของประเทศไทย สร้างความต้องการวัตถุดิบน้ำยางมากขึ้น ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางที่จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย



​ผู้แทนจากกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า มาตรฐานสำหรับถุงมือทางการแพทย์ในปัจจุบัน แบ่งเป็น ถุงมือสำหรับศัลยกรรม และถุงมือสำหรับตรวจโรค ซึ่งถุงมือ ทั้ง 2 ประเภท สามารถผลิตจากน้ำยางธรรมชาติและน้ำยางสังเคราะห์ โดยควบคุมมาตรฐานถุงมือทางการแพทย์ภายใต้มาตรฐาน มอก. และ ISO ทั้งนี้ ถุงมือสำหรับศัลยกรรมจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ใบอนุญาต ผู้ผลิตต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออก แต่ถุงมือสำหรับการตรวจโรคจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ทั่วไป ผู้ผลิตไม่ต้องดำเนินการขอรับใบสำคัญของตัวผลิตภัณฑ์ ส่วนผู้ประกอบการถุงมือทั้ง 2 ประเภทต้องจัดทำบันทึกการผลิต/นำเข้า/ขาย ไว้ที่บริษัท แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการถุงมือสำหรับศัลยกรรมจะต้องส่งรายงานมาที่ อย. ด้วย

อย่างไรก็ตาม การขออนุญาตการส่งออกถุงมือศัลยกรรม ผู้ประกอบการ จะต้องผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงฉลากสินค้าต้องเป็นไปตามที่คู่ค้ากำหนด



ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ กยท.