กมธ.แก้ รธน.เพิ่มวันประชุมสัปดาห์ละ 2 วัน เพิ่มช่องทางรับฟังความเห็นผ่าน ตู้ปณ.256 และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ถึง 18 ธ.ค.
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่รัฐสภา นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. และ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ร่วมกันแถลงถึงกรอบการทำงาน ว่า กมธ.มีระยะเวลาทำงาน 45 วัน ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายใน 8 ม.ค.2564 จึงได้เร่งรัดเพิ่มกรอบการทำงาน โดยจะนัดประชุมทุกสัปดาห์และเพิ่มวันประชุม จากเดิมที่นัดประชุมทุกวันศุกร์เวลา 09.30น. โดยเบื้องต้นจะเพิ่มขึ้มาอีก 1 วัน คือในวันพฤหัสบดี เวลา 09.30-12.00 น. โดยในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงรายละเอียดและเวลาประกอบด้วย เนื่องจากมีสมาชิกรัฐสภาเสนอการแปรญัตติ และต้องเชิญผู้แปรญัตติมาชี้แจงต่อที่ประชุมกมธ.ด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ได้ลงในเนื้อหาเนื่องจากรอการแปรญัตติของสมาชิกอยู่ โดยขณะนี้เริ่มทยอยส่งเข้ามาแล้ว ซึ่งวันที่ 3 ธ.ค.นี้ จะเป็นวันสุดท้าย จากนั้นจะเชิญผู้แปรญัตติมาชี้แจงเหตุผลต่อที่กรรมาธิการต่อไป
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลักการสำคัญคือการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่ม หมวด 15/1 จึงควรมีการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนและทุกฝ่าย เพื่อให้สาธารณชนได้ตระหนักรับรู้และมีส่วนร่วมในการความคิดเห็น อีกทั้งยังเตรียมเชิญนักวิชาการ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาทำหน้าที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือที่ปรึกษาเพิ่มเติม เพื่อมาให้ข้อคิดเห็นให้กว้างขวางขึ้น ทั้งนี้ขอยืนยันว่ากมธ.พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย โดยจะเพิ่มช่องทางการรับฟังความเห็นทั้งทางตู้ ปณ.256 และช่องทางเล็กทรอนิกส์ เริ่มตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 18 ธ.ค.63 และผู้ที่สนใจสามารถมายื่นเรื่องกับประธาน กมธ. หรือยื่นเรื่องที่รัฐสภาได้ ส่วนการติดตามทำข่าวของสื่อมวลชนนั้นทางกมธ.ไม่ปิดกั้นแต่อย่างใด โดยอาจจะมีการเปิดให้เข้ารับฟังในห้องประชุมเป็นครั้งคราวไป เรายึดหลักการ ที่เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงความเป็นอิสระของกรรมาธิการและประสิทธิภาพการบริหารการประชุม