“ธณิกานต์”เผย กมธ.เห็นพ้องการแต่งกายผู้หญิงเป็นสิทธิไม่ควรถูกยกเป็นข้ออ้างล่วงละเมิดทางเพศ

2020-11-24 23:45:17

“ธณิกานต์”เผย กมธ.เห็นพ้องการแต่งกายผู้หญิงเป็นสิทธิไม่ควรถูกยกเป็นข้ออ้างล่วงละเมิดทางเพศ

Advertisement

“ธณิกานต์”เผย กมธ.พัฒนาการเมืองเห็นพ้องการแต่งกายของผู้หญิงเป็นสิทธิ ไม่ควรถูกยกเป็นข้ออ้างล่วงละเมิดทางเพศ ชี้ถึงเวลาปลูกจิตสำนึกให้บ้าน รร. ที่ทำงานปลอดภัยอย่างแท้จริง เตรียมจับมือ UN Women จัดเวทีสาธารณะขับเคลื่อนนโยบายการใช้งบให้เท่าเทียมในมิติทางเพศ 

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.เขตบางซื่อ-ดุสิต พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)  ในฐานะสมาชิก ASEAN Parliamentarians for Human Rights (APHR) และรองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดเผยถึงการประชุม กมธ.ในวันนี้ว่า ที่ประชุมได้หยิบยกขึ้นประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของมนุษยชน การล่วงละเมิดและการคุกคามทางเพศมาพูดคุยกัน โดยนักวิชาการ นักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรระหว่างประเทศ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ตลอดจน ส.ส.ที่ทำงานในคณะกรรมาธิการฯต่างเห็นตรงกันว่า การแต่งตัวของผู้หญิง ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานไม่ควรถูกสังคมตั้งคำถามหรือหยิบยกเป็นข้ออ้างของการก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศ และควรต้องผลักดันกฎหมายที่คุ้มครองดูแลในด้านสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ให้เกิดความปลอดภัยในสังคมอย่างแท้จริง 

น.ส.ธณิกานต์ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ตนเองจะร่วมกับ UN Women และ กระทรวงการต่างประเทศ จัดเวทีสาธารณะกับกลุ่มผู้หญิง วัยเรียน วัยทำงาน วัยเกษียณ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ด้านการใช้งบประมาณโดยคำนึงถึงความเท่าเทียมและเสมอภาคในมิติทางเพศ หรือที่เรียกว่า Gender Resposive Budgeting ซึ่งทั่วโลกกำลังร่วมผลักดัน 

"การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของเครือข่ายผู้หญิงและเยาวชนขณะนี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในมิติทางเพศ ทั้งปัญหาความรุนแรงทางเพศและการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ที่ยังมีอยู่และยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะสังคมไทยยังยอมรับได้กับค่านิยมที่ชายกระทำรุนแรงหรือล่วงละเมิดต่อเพศหญิง ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วมกันปลูกจิตสำนึกเพื่อให้ทุกๆบ้าน ทุกๆโรงเรียน และทุกๆที่ทำงาน เป็นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงอย่างแท้จริงในสังคมไทย"น.ส.ธณิกานต์ ระบุ 

อย่างไรก็ตาม น.ส.ธณิกานต์ ระบุด้วยว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมสนับสนุนอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination - CEDAW) เพื่อร่วมกับนานาประเทศทั่วโลก ในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาความรุนแรงทางเพศ