เปิดตัวบทกฎหมายอาญาว่าด้วย "มาตรา 112"

2020-11-20 11:50:21

เปิดตัวบทกฎหมายอาญาว่าด้วย "มาตรา 112"

Advertisement

"ที่ปรึกษากฎหมายมหาดไทย" ชี้แจงความสำคัญของกฎหมายอาญา ว่าด้วย "มาตรา 112"


เมื่อวันที่ 20 พ.ย. จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศเตรียมใช้กฎหมายมาตรา 112 กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่กระทำการเข้าข่ายจาบจ้วงสถาบัน โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กฎหมายมาตรา 110 ซึ่งบัญญัติเอาไว้ ว่า ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 16 ปีถึง 20 ปี ส่งผลให้หลายคนสงสัยว่า กฎหมายอาญา มาตรา 112 จะมีโทษร้ายแรงเพียงใด


เกี่ยวกับเรื่องนี้ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย อธิบายเอาไว้ว่า จากการตรวจสอบบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันพบว่า ไม่ได้บัญญัติความผิดฐาน "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ไว้โดยตรง คงมีแต่ "หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โดยเนื้อหาแล้วก็เหมือนกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา กล่าว คือ การจะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาก็ใช้นิยามเดียวกัน คือ "การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามอันน่าจะทำให้ผู้อื่นเสียหาย" จะมีส่วนที่แตกต่างกันเพียง 3 ประการ" คือ

1.หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ มีโทษหนักกว่าหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา

2.หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ไม่อาจนำเหตุให้กระทำการได้ตามมาตรา 329 และมาตรา 330 มาอ้างได้

3.ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เป็นความผิดเกี่ยวด้วยความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร


บุคคลที่มาตรา 112 ประสงค์จะคุ้มครอง คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขณะที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาตามมาตรา 326 นั้น เป็นความผิดเกี่ยวด้วยเสรีภาพและชื่อเสียง ซึ่งมุ่งคุ้มครองบุคคลธรรมดา กล่าวโดยสรุป ปัจจุบันนี้ไม่มีข้อหาทางอาญาฐาน "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" มีแต่ข้อหา "หมิ่นประมาท" ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดที่อยู่ในบทบัญญัติของลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


แต่การที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น จะต้องเป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เท่านั้น ไม่รวมถึงเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ เนื่องจากตามมาตรา 112 มุ่งคุ้มครองบุคคลผู้เป็นประมุขแห่งรัฐ และผู้เป็นอุปกรณ์ในสถาบันดังกล่าว ได้แก่

1.พระมหากษัตริย์ (The King) หมายถึง องค์ที่ทรงครองราชย์อยู่ขณะที่มีการกระทำความผิด มิใช่พระมหากษัตริย์ที่ทรงสละราชบัลลังก์แล้วหรือพระมหากษัตริย์ในอดีต มิฉะนั้นก็จะหาขอบเขตอันเป็นองค์ประกอบความผิดมิได้

2.พระราชินี (The Queen) หมายถึง สมเด็จพระมเหสีที่เป็นใหญ่กว่าพระราชชายาทั้งหลาย ซึ่งมีเพียงพระองค์เดียวได้ผ่านการอภิเษกสมรส โดยเป็นพระมเหสีในพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ขณะมีการกระทำความผิดไม่ใช่พระราชินีในรัชกาลก่อน แม้ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม

3.รัชทายาท (The Crown Prince) บางครั้งเรียกว่า "มกุฎราชกุมาร" หมายถึง พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงครองราชย์อยู่ และจะได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามนัยที่ตราไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467

4.ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (The Regent) หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่ประมุขแทนพระมหากษัตริย์ เป็นการชั่วคราว ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ




องค์ประกอบความผิดในส่วนของ "การกระทำ" กล่าวคือ การกระทำที่เป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา คือ

(1)หมิ่นประมาท (Defamation) ตามมาตรา 112 มีความหมายเดียวกับหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปตามมาตรา 3261 กล่าว คือ เป็นการใส่ความบุคคลตามมาตรา 112 ต่อบุคคลที่สาม (คือ ยืนยันข้อเท็จจริง โดยไม่ว่าจะเท็จ หรือจะจริง ก็เป็นการใส่ความทั้งนั้น) โดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลตามมาตรา 112 เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แม้คำพูดดังกล่าวจะจริงหรือเท็จก็ตาม ถ้าพระมหากษัตริย์ เสียหายก็ถือว่าหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แล้วตามมาตรานี้ได้ โดยทั่วไป การหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ผู้กระทำอาจยกเหตุตามมาตรา 3292 มาอ้างว่า ตนกระทำได้เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามทำนองคลองธรรม หรือในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมหรือการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม นอกจากนี้ผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทอาจอ้างเหตุยกเว้นโทษได้ตามมาตรา 3303 หากพิสูจน์ได้ว่าที่หมิ่นประมาทไปนั้นเป็นความจริง แต่ห้ามพิสูจน์ในกรณีที่ข้อที่เป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความ ในเรื่อส่วนตัว และการพิสูจน์ไปก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน


อย่างไรก็ตามคำพิพากษาฎีกา ที่ 51/2503 ยืนยันว่า เหตุให้หมิ่นประมาทได้ตามมาตรา 329 และเหตุยกเว้นโทษตามมาตรา 330 ไม่นำมาใช้บังคับกรณีพระมหากษัตริย์ เพราะพระมหากษัตริย์ เป็นที่เคารพสักการะมีสถานะแตกต่างจากบุคคลทั่วไป ซึ่งมาตรา 112 มุ่งคุ้มครองเป็นพิเศษ ดังนั้นหากใครหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แล้วไปอ้างต่อศาลว่าตนติชมด้วยความเป็นธรรม ศาลก็ไม่รับฟัง ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย และ ศาสตราจารย์ ประภาศน์ อวยชัย อธิบายว่า ความผิดตามมาตรา 112 นั้น เป็นความผิดที่เคยบัญญัติไว้โดยคำนึงถึงสถานะทางบุคคลที่ถูกกระทำโดยเฉพาะ ฉะนั้น บทบัญญัติมาตรา 329 และมาตรา 330 - มาตรา 331 ย่อมนำมาใช้กับความผิดตามมาตรา 112 นี้ไม่ได้


(2)ดูหมิ่น (Insult) ได้แก่ การกระทำความผิดตามมาตรา 3934 แต่ไม่จำต้องกระทำซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา แม้กระทำลับหลังก็เป็นความผิดได้ กล่าวคือ เป็นการสบประมาท ดูถูกเหยียดหยาม หรือแสดงกิริยาอาการเหยียดหยาม เช่น ด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือ กล่าวต่อบุคคลนั้นด้วยคำสามัญ แต่มีความหมายเป็นการดูหมิ่น, ด่าว่าเป็นสัตว์เดรัจฉาน, ด่าบิดามารดา, ถ่มน้ำลายรด, ยกส้นเท้าให้ เป็นต้น ถ้าไม่มีการกล่าวต่อบุคคลที่สาม ย่อมเป็นผิดฐานดูหมิ่น และถ้าเข้าลักษณะการดูหมิ่นแล้ว แม้จะกล่าวดูหมิ่นต่อบุคคลที่สาม ก็ไม่อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ เพราะการดูหมิ่นไม่ใช่การกล่าวใส่ความตามมาตรา 326(9)


(3) แสดงความอาฆาตมาดร้าย (Threaten) ได้แก่ การแสดงออกด้วยกิริยาหรือวาจา หรือโดยวิธีการใดๆ ด้วยความพยาบาทมาดร้ายว่าจะทำให้เสียหายในทางใดๆ อันมิใช่เป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม (หรือสิทธิตามกฎหมาย) ถือว่าเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายได้ทั้งสิ้น โดยต้องเป็นการแสดงว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในอนาคต และไม่จำเป็นต้องโกรธแค้นเคืองกันมาก่อน เช่น ขู่ว่าจะปลงพระชนม์ จะทำร้าย หรือจะกระทำให้เกิดภยันตรายต่อสิทธิเสรีภาพ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณก็ตามอันไม่ใช่การใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ว่าจะมีเจตนากระทำตามที่ขู่หรือไม่ โดยขู่ หรือแสดงออกมุ่งต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์




องค์ประกอบความผิดในส่วน "เจตนา" ผู้กระทำความผิดจะต้องมีเจตนาในการกระทำความผิดดังกล่าว กล่าวคือ มีเจตนาหมิ่นประมาท, เจตนาดูหมิ่น หรือเจตนาแสดงความอาฆาตมาดร้าย โดยรู้ว่าผู้ที่กระทำต่อนั้นเป็นบุคคลตามมาตรา 112 กล่าวคือ ผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงถึงสถานภาพของบุคคลดังกล่าว และประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำของตน หากเป็นการกระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงก็รับโทษเท่ากับการกระทำต่อบุคคลธรรมดา


พิจารณาตัวอย่างแนวทางการพิเคราะห์เจตนาหมิ่นประมาทฯ ของศาลฎีกา ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2531 จำเลย กล่าวว่า “ถ้าเลือกเกิดได้จะเกิดใจกลางเมืองพระบรมมหาราชวัง ออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระ ไม่ต้องมายืนตากแดดพูดให้ประชาชนฟัง ถึงเวลาเที่ยงก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทม ตื่นอีกทีก็บ่ายสามโมง พอตกเย็นก็เสวยน้ำจัณฑ์ให้สบายอกสบายใจ" นั้น เป็นการกล่าวเปรียบเทียบว่าพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ องค์รัชทายาท ทรงมีความเป็นอยู่สุขสบาย ฯลฯ พยานทุกปากประกอบด้วยบุคคลจากหลายท้องถิ่นและหลายสาขาอาชีพ ทั้งราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร นักการเมือง ครู อาจารย์ ทนายความ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวนา ล้วนเบิกความให้ความเห็นสรุปได้ว่า จำเลยกล่าวหาใส่ความว่าทั้งสามพระองค์ทรงมีความเป็นอยู่สุขสบายไม่ต้องปฏิบัติภารกิจใดๆ เอาแต่พักผ่อนและดื่มสุรา อันแสดงว่าประชาชนโดยทั่วไปต่างเห็นว่าจำเลยเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ องค์รัชทายาท การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112


กล่าวโดยสรุปความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ คุ้มครองบุคคลตามมาตรานี้ ซึ่งได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อย่างกว้างขวาง จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นการตัดสิทธิในทางวิจารณ์โดยสิ้นเชิง หรือแม้แต่จะกล่าวถึงยังต้องระมัดระวัง ซึ่งการกำหนดดังกล่าวนั้นเข้าใจว่าเป็นผลจากการที่รัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับที่บัญญัติรับรองว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" นอกจากนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ยังได้กำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์ไว้หลายมาตรา เช่น


- มาตรา 2 "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"

- มาตรา 68 วรรคหนึ่ง "บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้"

- มาตรา 70 "บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้"

- มาตรา 77 "รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณาภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจำเป็นและเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ