รัฐหนุนการผลิตและจำหน่ายน้ำมันกำมะถันต่ำลดฝุ่นละออง PM2.5
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า คพ. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศึกษาวิจัยเพื่อหาสัดส่วนของแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ใน กทม.และปริมณฑล มีแหล่งกำเนิดหลักของมลพิษมาจากการขนส่งทางถนน 51 เปอร์เซ็นต์ อุตสาหกรรม 21 เปอร์เซ็นต์ ครัวเรือน 10 เปอร์เซ็นต์ การขนส่งอื่นๆ 9.5 เปอร์เซ็นต์ การเผาในที่โล่ง 6เปอร์เซ็นต์ และอื่นๆ อีก 2.5 เปอร์เซ็นต์ โดยศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ได้ขับเคลื่อนแผนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ภายใต้แผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง และเร่งรัดให้เกิดการผลิตและจำหน่ายน้ำมันที่มีกำมะถันต่ำ ปัจจุบันปริมาณกำมะถันที่เป็นองค์ประกอบในน้ำมันเบนซินและดีเซลมีค่าที่ไม่เกิน 50 ppm แต่ในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 จะมีโรงกลั่นน้ำมันบางแห่งซึ่งสามารถผลิตน้ำมันเบนซินและดีเซลที่มีค่ากำมะถันไม่เกิน 10 ppm มาจำหน่ายให้ประชาชนได้ใช้เพื่อลดการเกิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งการปรับลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันดีเซลสามารถช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้เพราะกำมะถันในน้ำมันเมื่อถูกเผาไหม้จะเกิดเป็นซัลเฟตและจับกับมลพิษอื่นทำให้เกิดเป็นฝุ่น PM2.5 เมื่อโรงกลั่นและผู้ค้าได้ปรับลดกำมะถันในน้ำมันเบนซินและดีเซลลงกว่า 5 เท่า จะทำให้น้ำหนักของฝุ่น PM2.5 ลดลงไปด้วยเช่นกัน
นายมนต์ชัย แจ้งไพร ผอ.กองน้ำมันเชื้อเพลิง กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน (พน.)กล่าวว่า พน.ได้กำหนดมาตรการส่งเสริมให้โรงกลั่นน้ำมันที่สามารถผลิตน้ำมันดีเซลหรือน้ำมันเบนซินที่มีกำมะถันต่ำได้และขอให้ผู้ค้าน้ำมันนำน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันต่ำมาจำหน่ายให้พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อสนับสนุนมาตรการลดฝุ่น PM2.5 พน. ได้กำหนด 2 มาตรการในการช่วยลดฝุ่น PM2.5 ประกอบด้วย 1 กำหนดให้หน่วยงานที่ผลิตและจำหน่ายน้ำมัน ผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันต่ำ และ 2 ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมัน B10 ที่มีกำมะถันต่ำ เพื่อลดการเกิด PM2.5 ซึ่งน้ำมัน B10 มีสัดส่วนไบโอดีเซล 9 – 10 เปอร์เซ็นต์ โดยมาตรการมี 2 ระยะ มาตรการระยะสั้น ได้แก่ 1) ให้รถยนต์ของหน่วยงานราชการ เน้นใช้น้ำมัน B10 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้น้ำมันที่มีกำมะถันต่ำ 2) น้ำมันที่มีกำมะถันต่ำมีราคาถูกกว่า เป็นการช่วยลดภาระค่าน้ำมันและช่วยลดฝุ่นไปด้วย และ 3) ติดตามการปรับปรุงน้ำมันให้มีมาตรฐานเทียบเท่า Euro5 ภายในปี 2566 และสามารถจำหน่ายได้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2567 สำหรับมาตรการระยะยาว คือส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้าในการเดินทาง และสนับสนุนให้นำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้งานเพื่อลดการเกิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในช่วงวิกฤตฝุ่นละอองจะไม่สามารถสำเร็จลุล่วงหากขาดความร่วมมือจากประชาชนทุกคน
นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า ปีนี้ บริษัท ปตท. กำหนดแผนการผลิตน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำและจะนำออกมาจำหน่ายให้กับประชาชนได้ใช้ในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 โดยจะจำหน่ายในสถานีบริการของ ปตท. ทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5
นายสมชัย เตชะวณิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท บางจากได้ทำการผลิตน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันต่ำและนำออกจำหน่ายในมาตรฐานต่ำพิเศษ เพื่อจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงวิกฤตฝุ่นที่เป็นพื้นที่วิกฤตที่เกิดมลพิษ PM2.5 ในช่วงหน้าหนาว เช่นเดียวกันกับนายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า มีแผนการดำเนินงานที่จะสนับสนุนและสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และปัจจุบันสามารถผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมัน B10 ได้ทุกสถานีทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศได้จากเว็บไซต์ Air4Thai.pcd.go.th และbangkokairquality.com หรือทางแอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK ในมือถือ Smart Phone หรือติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์อากาศผ่านทาง Facebook Fanpage ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)