“จอน”หวังรัฐสภาช่วยแก้วิกฤตชาติ ยันไอลอว์ ตั้งขึ้นเพื่อพิทักษ์สิทธิ เสรีภาพของประชาชน ย้ำทำงานตามหลักวิชาการ พร้อมแจงรายรับ รายจ่าย
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. .. จำนวน 7 ฉบับ เป็นวันที่ 2 ซึ่งยังเป็นการอภิปรายในร่างฉบับที่ 7 คือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่เสนอโดยกลุ่มไอลอว์ ซึ่งภายหลังการอภิปรายเสร็จสิ้นลง นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.ไอลอว์ ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวอภิปรายสรุปว่า เราไม่ได้คิดว่าไอลอว์จะเป็นศูนย์กลางของการอภิปราย การอภิปรายโจมตีนั้นกระทำง่ายแต่พิสูจน์ได้ยาก ต่อให้เราพูดว่าเราเจตนาดีแค่ไหน ถ้าเขาไม่เชื่อก็คงไม่เชื่อ ซึ่งจริงๆแล้วประเด็นสำคัญอยู่ที่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ การกล่าวหาเจตนาไอลอว์เป็นการบิดเบือนประเด็น ซึ่งใครอยากจะรู้เรื่องไอลอว์มาติดต่อ อยากรู้รายรับ รายจ่ายหรือแหล่งทุนเรายินดีให้ข้อมูลและอ่านได้จากเว็บไซต์ของเรา ไอลอว์ตั้งขึ้นเพื่อพิทักษ์สิทธิ เสรีภาพของประชาชนตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี เราทำงานตามหลักวิชาการทุกเรื่อง
นายจอน กล่าวยืนยันว่า เราเห็นว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่แสดงความเห็นได้ เราไม่อาจกำหนดได้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะไปห้ามประชาชนแก้ข้อนั้นข้อนี้ได้ เราไม่อาจทำตัวใหญ่กว่าประชาชนได้ ที่สำคัญ ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันไม่เหมือนกับคนรุ่นใหม่ในอดีต เป็นผลพวงแห่งเหตุการณ์หลายอย่างที่ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ หากรัฐสภาไม่ทำความรู้จักกับคนรุ่นใหม่จะไม่มีทางแก้วิกฤติได้ ตนเสนอว่าควรเชิญคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องประชาธิปไตยมานั่งคุยกับพวกท่าน ท่านอาจจะมองเขาในแง่ดีและเข้าใจมากขึ้น ท่านอาจเจอหลานของท่านมาคุยกับท่านก็ได้ ผมคาดหวังว่ารัฐสภานี้จะช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศและสร้างความเข้าใจในหมู่ประชาชน เปิดโอกาสได้คุยกัน นี่คือความหวัง ถ้าท่านทำให้ผิดหวัง ประเทศเราจะแย่ ท่านมีภารกิจที่หนักที่ต้องสร้างความเข้าใจและลดความตึงเครียดในสังคม และทำให้ข้อเรียกร้องของประชาชนได้รับความสนใจ
จากนั้น เวลา 13.00น.ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้เริ่มลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 7 ฉบับ โดยใช้วิธี 1 คนขานทั้ง 7 ฉบับในคราวเดียวกัน โดยระบุทีละฉบับ ว่า “รับหลักการ” หรือ “ไม่รับหลักการ” หรือ “งดออกเสียง”