รัฐสภาถกร่างแก้ไข รธน. 7 ฉบับ ส.ว.ค้านตั้ง ส.ส.ร.แก้ทั้งฉบับ

2020-11-17 20:40:23

รัฐสภาถกร่างแก้ไข รธน. 7 ฉบับ ส.ว.ค้านตั้ง ส.ส.ร.แก้ทั้งฉบับ

Advertisement

รัฐสภาถกเดือดร่างแก้ไข รธน. 7 ฉบับ ฝ่ายค้านผิดหวังรายงาน กมธ.ไร้ข้อสรุป ประวิงเวลา  ด้าน ส.ว.ดาหน้าค้านตั้ง ส.ส.ร.แก้ไข รธน.ทั้งฉบับ "ไพบูลย์"ซัดร่างไอลอว์ขัด รธน.


เมื่อเวลา 09.50 น. วันที่ 17 พ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ.... จำนวน 7 ฉบับ

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ขอให้สมาชิกเร่งพิจารณา โดยในวันนี้จะยุติการประชุมในเวลา 24.00 น. และไปอภิปรายต่อในวันที่ 18 พ.ย. จนกระทั่งเวลา 13.00 น. จึงเริ่มลงมติน่าจะจบได้ในเวลาไม่เกิน 18.00 น.


นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า เวลาของรัฐบาลทั้งสิ้น 4 ชม.  รวมกับรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการด้วย ส่วน ส.ว.นั้นได้เวลา 5 ชม. ขณะที่การนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของไอลอว์นั้น ตัวแทนผู้เสนอได้เวลา 30 นาที ทั้งนี้ ขอให้พยายามพูดให้อยู่ในเวลาร่วมกันด้วย

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า การพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายใน 4 ประเด็นคือ 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18 -22/2555 หรือไม่ กรรมาธิการมีความเห็น 2 แนวทางคือ ขัดและไม่ขัด 2.การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามร่างแก้ไขฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ และต้องออกเสียงกี่ครั้ง โดยกรรมาธิการมีความเห็นทั้ง 2 แนวทางคือ ไม่ต้องทำประชามติก่อน เพราะบทบัญญัติกำหนดให้ทำประชามติหลังจากผ่านการพิจารณาวาระ 3 และอีกแนวทางคือ ต้องทำประชามติ เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ผ่านการทำประชามติมาก่อน  3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจอื่นใดของพระมหากษัตริย์ ที่บัญญัติไว้ในมาตราอื่นๆ นอกจากหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2  พระมหากษัตริย์ กรรมาธิการ พิจารณาแล้วว่ามี38 มาตราที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560  ทั้งนี้ โครงสร้างพระราชอำนาจนั้นควรวางหลักการเพื่อไม่ให้เกิดการแก้ไขที่ขัดต่อมาตรา 255 และ4.กรณีที่รัฐสภารับหลักการฉบับที่1 และฉบับที่ 2 และร่างที่ 3-6 ที่เสนอแยกเป็นรายมาตรานั้น กรรมาธิการเห็นว่าทำได้ แต่อาจทำให้มีผลเกิด 2 องค์กรทับซ้อนด้านอำนาจแก้ไขเพิ่มเติม จึงไม่พึงกระทำ และมีความเห็นต่อไป คือ หากรับหลักการฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 แต่ไม่รับหลักการฉบับที่ 3-6 แล้ว ส.ส.ร.จะแก้ไขมาตราที่รัฐสภาไม่รับหลักการได้หรือไม่นั้น กรรมาธิการเห็นว่าทำได้ เพราะเป็นอำนาจของ ส.ส.ร. แต่ต้องเป็นไปภายใต้มาตรา 255 อย่างเคร่งครัด


นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. อภิปรายว่า ยังมีความไม่ชัดเจนในอำนาจของรัฐสภาว่า มีอำนาจเพียงแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปัญหาต่างๆ สมควรจะต้องบัญญัติให้ชัดเจน ถ้าที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อนาคตเราจะได้ไม่ต้องมาถกเถียงกันอีก และจะสามารถช่วยกันพัฒนาหลักการสำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในปัจจุบัน และถ้าคำตอบของกรรมาธิการยังไม่สามารถให้ความกระจ่างชัดได้อย่างชัดเจน ตนมีความจำเป็นที่ต้องโหวตให้ความเห็นชอบสำหรับการแก้ไขรายมาตรา และเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า ในฐานะที่เป็นส.ว.คนหนึ่ง ตนยินดีให้ความเห็นชอบการเสนอแก้ไขรายมาตราญัตติที่ 3-6 ที่พรรคฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอ โดยเฉพาะมาตรา 272 ที่เกี่ยวกับอำนาจของวุฒิสภา ที่มีส่วนให้ความเห็นชอบนายกฯ หรือที่เคยพูดว่าปิดสวิตช์ ส.ว.  ตนยินดีที่จะปิดสวิตช์ตัวเอง และประเมินผลมาโดยตลอด ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของการบัญญัติให้มีมาตรา 272 ที่มาจากการประชามติผ่านคำถามพ่วง เพื่อให้มีการต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศ นั่นคือ เหตุผลว่าทำไม ส.ว.ต้องยอมรับว่าต้องการให้ก้าวพ้นจากปัญหาเดิมๆ ผ่านกระบวนการปฏิรูปในช่วงบทเฉพาะกาล 5 ปี  ดังนั้น ถ้าที่ประชมเห็นว่าบทบัญญัติตรงนี้ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิรูป ตนยินดีที่จะสละอำนาจส่วนตัวของตนในฐานะที่เป็นวุฒิสมาชิก และยินดีที่จะสละอำนาจเกี่ยวกับการติดตามตรวจสอบเร่งรัดการปฏิรูปประเทศในมาตรา 270  ที่ท่านเห็นว่าไม่สมควรให้ส.ว.ทำหน้าที่นี้ และต้องการให้เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก ยืนยันว่าไม่ได้ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ผิดหวังต่อรายงานของคณะกรรมาธิการเพราะเข้าใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางออกประเทศ แต่เมื่อดูรายละเอียดกลับไม่มีสาระสำคัญ เสียทั้งงบประมาณ เสียทั้งเวลา แต่ไม่ได้ชี้ให้เห็นผลการพิจารณาว่าจะไปทิศทางใด ไม่มีแม้แต่การตั้งข้อสังเกต เป็นการโยนภาระการตัดสินใจให้สมาชิกทั้งรัฐสภาพิจารณา เนื้อหาในรายงานมีเพียงความเห็นของกรรมาธิการและเนื้อหาที่สมาชิกได้อภิปรายไปแล้ว จึงเหมือนไม่ได้ศึกษาอะไรเพิ่มเติม ไม่มีประโยชน์

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า  ที่ฝ่ายค้านไม่ร่วมด้วยก็เพราะตั้งขึ้นมาเพื่อประวิงเวลา รายงานมีข้อโต้แย้งมากมาย เรื่องนี้แก้ไม่ยาก สามารถถามนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่เป็นคนร่างก็ได้ แต่ก็ไม่มีการถามคนร่าง เป็นกรรมาธิการฯที่ประวิงเวลาเพื่อไม่ให้มีการแก้ไขเท่านั้นเอง การทำประชามติรัฐธรรมนูญก็มีปัญหา จอมปลอม กีดกันคนเห็นต่าง แต่มีการอ้างทุกครั้งว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านการทำประชามติมา มีหลายมาตราที่เป็นปัญหา ถ้าหัวใจของนายกฯ ต้องการจะแก้ ไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ เรื่องนี้แก้ง่าย ไม่ต้องใช้เทคนิค ในรายงานที่บอกแก้ไม่ได้นั้น ในรัฐธรรมนูญไม่มีข้อไหนที่ห้ามแก้ทั้งฉบับ แต่ต้องไม่ขัดมาตรา 255 แต่กลับมีการตีความว่าแก้ไม่ได้ ถ้าไม่อยากให้แก้ก็บอกมาตรงๆก็ได้ สิ่งที่ ส.ว.กำลังทำอยู่คือการผลัดกันเกาหลัง ทำให้บ้านเมืองถอยหลังลงคลอง

ทางด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะกรรมาธิการ ชี้แจงว่า การกำหนดให้มีหมวด 15/1 ถือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้คณะบุคคลอื่นจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จึงควรทำประชามติก่อนเพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555  การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจะทำให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไป ซึ่งจะเกิดปัญหาการดำเนินคดีและการทำงานขององค์กรอิสระ ทำให้คดีทุกจริตถูกยกเลิก จึงควรสนับสนุนเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา  หากหวังจะให้ ส.ว.ร่วมลงมติด้วยนั้น ขณะนี้มีเพียง 11 เสียงเท่านั้น ไม่ถึง 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด และส่วนตัวจะรับหลักการญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 2 ญัตติคือ เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมระบบเลือกตั้งให้กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และการตัดอำนาจ ส.ว.ในการติดตามการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การผ่อนคลายสถานการณ์ แม้จะไม่ได้แก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น แต่อย่างน้อยรัฐสภาควรได้ทำหน้าที่ เพื่อให้มั่นใจว่าสังคมไทยจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ไม่สร้างความเกลียดชัง รัฐสภาต้องพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับด้วยหลักการ 3 ข้อ คือ 1.สมาชิกรัฐสภาต้องไม่เติมฟืนเข้ากองไฟผ่านการใส่ร้ายร่างรัฐธรรมนูญ หรือประวิงเวลาให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดความล่าช้า หรือดึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมาล้มกระดาน 2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลที่ให้ตั้ง ส.ส.ร. กว่าจะบรรลุเป้าหมายต้องใช้เวลายาวนาน กว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ก็อยู่สร้างปัญหาต่อไปเรื่อยๆ จนครบวาระ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขรายมาตราเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น อำนาจการโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ว. และ 3 .ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะต้องถูกให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะคือพลังของประชาชนที่เห็นว่า การแก้ไขปัญหาผ่านกลไกรัฐสภาไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ เมื่อเราผ่านหลักการ 3 ข้อนี้ได้ ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นทันทีคือ การเปิดพื้นที่พูดคุยกันอย่างมีสติ บนเนื้อหาและข้อเท็จจริง


ส่วน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการ สรุปรายงานว่า คณะกรรมาธิการชุดนี้เกิดจากการที่สมาชิกอยากให้พิจารณาก่อนรับหลักการ หลายคนบอกว่าเป็นการยื้อเวลา ทำให้เสียเวลา ซึ่งไม่ได้เสียเวลา เพราะถ้าโหวตเมื่อวันที่ 24 ก.ย.แล้วไม่ผ่าน ญัตติต้องตกไป จะเข้าทางใคร ดังนั้น การเสียเวลาไป 1 เดือนไม่ถือว่าเสียเวลา และการทำงานก็ผ่านมาด้วยดี อีกทั้งยังเป็นการรอร่างของไอลอว์ เพื่อพิจารณาไปพร้อมกันด้วย ซึ่งร่างของไอลอว์นั้นต้องรอฟังการชี้แจงของผู้เสนอก่อนว่าจะเป็นอย่างไร จึงยังตอบไม่ได้ว่าจะผ่านหรือไม่

จากนั้นนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ระบุว่า เมื่อไม่มีสมาชิกอภิปรายเพิ่มเติม และกรรมาธิการได้ชี้แจงครบแล้ว ถือว่าที่ประชุมรัฐสภารับทราบรายงานดังกล่าวแล้ว

ต่อมา พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ส.ว. อภิปรายว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านและของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น มีหลักการคล้ายกันคือ การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญ หากพิจารณาด้วยเหตุผลนั้น ตนสบายใจและคลายใจในร่างของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะสะท้อนเจตนาดีของผู้ยื่นญัตติ ที่ยึดประโยชน์ประเทศชาติ แสดงให้เห็นว่าสมาชิกหวงแหนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่สำคัญ ไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และ 2 หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลผ่านวาระรับหลักการ ตนอยากถามไปยังนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ในฐานะผู้เสนอร่างว่า บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ในหมวดอื่นๆ อย่างน้อย 38 มาตรานั้น ท่านจะเสนอต่อกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้หมวดเหล่านี้อยู่เหมือนเดิมใช่หรือไม่ และข้อดีของบทบัญญัติอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันนั้น ท่านสามารถเสนอต่อกรรมาธิการ ให้คงอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่




เมื่อเวลา 15.20 น.  นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขอหารือว่า ขณะนี้โดยรอบรัฐสภามีการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมหลายครั้งแล้ว และยังปรากฏภาพเจ้าหน้าที่บรรจุกระสุนยาง จึงขอให้ประธานรัฐสภาช่วยประสานกับเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ด้าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา  กล่าวว่า เห็นด้วยกับนายวิโรจน์ พร้อมทั้งสั่งการให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อขอให้ใช้วิธีการละมุนละม่อมกับผู้ชุมนุม 

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ผู้ชุมนุมทุกฝ่ายต้องรักษากฎ ต้องอยู่นอกเขต 50 เมตรรอบรัฐสภา หากมีผู้ชุมนุมเข้ามาในเขต 50 เมตร เพื่อกดดันรัฐสภา เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยเฉียบขาด ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านต่างลุกขึ้นประท้วงนายวิรัชทันที ว่า เหตุใดการต้อนรับผู้ชุมนุม 2 ฝ่ายถึงแตกต่างกัน ทำไมผู้สนับสนุนรัฐบาลเข้ามาด้านในเขต 50 เมตรได้ เดินผ่านรัฐสภาได้ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเดินเฉียดผ่านก็เจอรถน้ำฉีดใส่

จากนั้นที่ประชุมรัฐสภา ได้เปิดโอกาสให้ ส.ส. ส.ว.อภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนที่เสนอโดยกลุ่มไอลอว์ โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ยกเลิกการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งอาจมีปัญหาที่ขัดแย้งกันเอง เพราะทั้งเรื่องการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญปี 2560  การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนกับธรรมนูญการปกครองของคณะรัฐประหาร ที่มีการให้จัดทำกฎหมายและร่างกฎหมายใหม่ไปในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะการยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ได้รับการประกาศใช้โดยสมบูรณ์แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่จะกระทำไม่ได้ นอกจากนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบันมีการจาบจ้วงไม่เว้นแต่ละวัน จึงสงสัยว่าการไม่กำหนดห้ามแก้ไขหมวด 1 และ หมวด 2 มีเจตนาอย่างไร นอกจากนี้ การเลือกตั้ง ส.ส.ร. โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มการเมืองเข้ามาควบคุมการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญผ่านการส่งบุคคลเลือกตั้ง ส.ส.ร.

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ไอลอว์เป็นองค์กรที่ได้รับทุนจากต่างชาติและทุนบางแห่งมาจากนายจอร์จ โซรอส ไม่เหมาะที่จะเข้ามาทำงานการเมืองโดยเฉพาะการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หนักไปกว่านั้นมีแกนนำของคณะราษฎรจำนวนมากที่ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเป็นการมุ่งปฏิรูปสถาบัน  การแก้ไขรัฐธรรมนูญถ้าเป็นเรื่องอื่นก็พอรับได้ เช่น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านที่ห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เป็นต้น  ดังนั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์จึงขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 255 และยังเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบัน และกระทบต่อศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบัน ด้วยเหตุนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ