จารึกไว้ในดวงใจ ตามรอยเสด็จ จากวังสวนจิตรลดาถึงเมืองพล

2017-10-24 10:19:43

จารึกไว้ในดวงใจ ตามรอยเสด็จ จากวังสวนจิตรลดาถึงเมืองพล

Advertisement

"มาแต่หลังภูพู้น ย่างมาแต่ ๒ - ๓ มื้อก่อน อยากเห็นให้เต็มตา มื้อนี้กะมารอแต่เช้า"
"ฮ่อนทอได๋กะอดได้ ขอให้เห็นเจ้าอยู่หัวคัก ๆ เถาะ"


เริ่มด้วยศัพท์สำเนียงภาษาอีสานที่คนเฒ่าคนแก่ในภาคอีสาน พูดกับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชินีฯของพวกเขา เป็นภาษาท้องถิ่นง่าย ๆ แต่ด้วยรักและภักดีเต็มหัวใจ




ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัฐบาลที่ ๙ หลายคนตั้งใจที่จะทำอะไรหลายอย่างแตกต่างกันไป มีบางคนบอกเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อน้อมรำลึกและถวายความอาลัยแด่พระองค์ท่าน แต่ผมกลับคิดว่า จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ผมเชื่อว่าชั่วชีวิตนี้และตราบนิรันดร์ พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์จะไม่มีวันเลือนหายไปจากความทรงจำของพสกนิกรคนไทย


ผมก็เหมือนทุกท่าน ในฐานะที่เป็นลูกคนหนึ่ง ทำดีเราก็ทำอยู่แล้วตามอัตภาพ ไม่ต้องบอกใคร “ปิดทองหลังพระ” ทำดีเราไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่ทำดีเพื่อความดี




เคยอ่านหนังสือ และดูคลิปตามสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ซึ่งเป็นภูมิภาคแรกที่พระองค์เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีนาถ ภายหลังครองสิริราชสมบัติแล้ว 5 ปี ระหว่างวันที่ 2-20 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 เสด็จโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งจากสถานีจิตรลดา เยี่ยมราษฎรจังหวัดนครราชสีมา เป็นแห่งแรก แม้เวลาจะล่วงเลยมา 62 ปีแล้ว เชื่อว่า พสกนิกรชาวอีสาน ซึ่งก่อนหน้านี้ ยังไม่เคยมีพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ใดเสด็จเยี่ยมราษฎรอย่างเป็นทางการแบบนี้มาก่อน เมื่อทราบข่าวการเสด็จมาของพระเจ้าแผ่นดิน ทุกคนต่างปลาบปลื้มดีใจ กุลีกุจอเตรียมตัวเตรียมใจเป็นอย่างดี ที่จะมาเฝ้ารับเสด็จทั้ง 2 พระองค์อย่างใกล้ชิด ใครมีเสื้อผ้าชุดที่สวยที่สุดอยู่ตรงไหน ต้องไปเอาออกมาใส่ ใครไม่มีก็ต้องไปหามา นึกภาพเมื่อเวลางานบุญแถวภาคอีสาน ไม่ว่าคนหนุ่มสาว หรือคนเฒ่าคนแก่ จะสวยเป็นพิเศษ แน่นอนว่าวันสำคัญที่ทุกคนจะได้ชื่นชมพระบารมีของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินแบบนี้ ซึ่งไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ ทุกคนต้องเต็มที่กับวันแห่งความสุข และวันที่รอคอยนี้


คนเฒ่าคนแก่บางคน เว้าเป็นภาษาอีสานว่า "ขอจักเทือเถาะ ฮ่อนทอได๋กะอดได้ ขอให้ได้เห็นเจ้าอยู่หัวคัก ๆ" จึงไม่แปลกที่หลายคน ดั้นด้น เดินทางข้ามภูเขาเป็นลูก รอนแรม 2-3 วัน ลืมความยากลำบาก ทิ้งความเหน็ดเหนื่อยไว้เบื้องหลัง พกพามาแต่ความสุขความมุ่งมั่นด้วยใจรักและภักดี เป้าหมายกันคือพระพักตร์ของพระเจ้าแผ่นดิน แม้หนทางจะยาวไกล ทุรกันดารแค่ไหน ก็ไม่ใช่ปัญหา
“ชาตินี้ขอกราบพระเจ้าแผ่นดิน “จักเทือ” มันสิยากลำบากป่านได๋ กะซ่างมัน” ก้องกังวานอยู่ในอก


พระองค์ทรงมีพระราชดำริที่จะเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร ภายหลังเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติได้ 5 ปี และได้เสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลำดับแรก ยังความปลื้มปิติแก่พสกนิกรชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างยิ่ง เนื่องด้วยยังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเคยเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรแบบนี้มาก่อนเลย




เวลา 07.00 น.ของวันที่ 2 พฤศจิกายน 2498 ทั้ง 2 พะองค์ เสด็จโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งจากสถานีรถไฟจิตรลดา โดยนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม และ พสกนิกร ทหาร กองเกียตริยศทั้ง 3 เหล่าทัพ เฝ้าส่งเสด็จ ขบวนรถไฟพระที่นั่งถึงสถานีต่าง ๆ ซึ่งมีข้าราชการ พสกนิกรเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่น จากสถานีรถไฟอยุธยา สถานีพาชี สถานีสระบุรี สถานีแก่งคอย สถานีปากช่อง สถานีสีคิ้ว สถานีสูงเนิน


รถไฟใช้เวลาวิ่งอยู่นานเกือบ 8 ชั่วโมง จนถึงเวลา 14.48 น. ขบวนรถไฟพระที่นั่งก็ถึงจุดหมายปลายทางแรก คือสถานีเมืองย่าโม นครราชสีมา มีราษฎรเฝ้ารับเสด็จเนืองแน่นมืดฟ้ามัวดิน ไม่น้อยกว่า 50,000 คน นั่งเรียงรายกันไปตลอดทาง ไม่สนฝนจะตก แดดจะออก หลังจากเสด็จฯ ไปทรงวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จึงเสด็จไปประทับพลับพลา หน้าศาลากลางจังหวัด ยิ่งกว่าหยาดน้ำทิพย์ชโลมใจ ทุกคนอยากหยุดเวลาไว้ตรงนี้ ไม่ผิดหวังเลยแม้แต่วินาทีเดียว ที่ได้เข้าเฝ้าพระองค์อย่างใจหวัง บางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปว่า ฝนกำลังตกพรำ ๆ


ในวันนั้น ฝนซึ่งไม่ตกมานานได้โปรยปรายลงมาท่ามกลางแสงแดดอ่อน ๆ ช่วยลดความร้อนจากแสงแดด ทำให้อากาศเย็นสบายขึ้น ทรงทักทายราษฎรโดยไม่ถือพระองค์ ปิดช่องว่างระหว่างกษัตริย์กับประชาชนได้อย่างสนิท ผู้เฒ่าผู้แก่ต่างยกมือขึ้นท่วมหัว กล่าวว่า


"...บารมีของในหลวงองค์นี้ล้นเหลือนัก เหมือนฟ้ามาโปรด แต่นี้ต่อไปความแห้งแล้งจะหมดไปจากอีสานล่ะ..." พูดเหมือนตาเห็น เพราะหลังจากนั้น ความชุ่มเย็นเริ่มมาเยือนผืนดินอีสาน ด้วยโครงการในพระราชดำริหลายร้อยโครงการเกี่ยวกับน้ำ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำการเกษตรของภาคอีสาน ทำให้ “ดินดำน้ำซุม” ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ความแห้งแล้ง ความอดอยากค่อย ๆ หมดไปจากแผ่นดินอีสาน พร้อม ๆ กับความอุดมสมบูรณ์เข้ามาแทนที่ ด้วยพระบารมีและน้ำพระทัยจากพระองค์ท่าน




คนแก่บางคนถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความตื้นตันใจ เมื่อเห็นเจ้าเหนือหัว คนที่พวกเขารักและเทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้า

การเสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคอีสานครั้งนี้ ทำให้ราษฎรของพระองค์ ลบความคิดเดิม ๆ ที่คิดว่า พระองค์อยู่สูงเกินเอื้อมออกไปจากใจได้อย่างไม่มีอะไรสงสัยอีกเลย ส่วนพระองค์ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรด้วยสายพระเนตรของพระองค์เองอย่างแท้จริง


จากนั้น ทั้ง 2 พระองค์ก็เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา ท่ามกลางการรอรับเสด็จเนืองแน่นเหมือนกันทุกที่ การเสด็จตามสถานที่ต่าง ๆ ต้องล่าช้า เพราะต้องใช้เวลาในการทักทายราษฎร เช่นช่วงหนึ่งการของเสด็จอำเภอโนนไทย พระบรมราชินีนาถรับสั่งกับหญิงชราผู้หนึ่งว่า "มารอนานแล้วหรือจ๊ะ ฉันมาช้าไปเพราะราษฎรมากเหลือเกิน ต้องแวะเยี่ยมเขาตลอดทาง" เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงใส่พระทัยกับราษฎรทุกคน


ผมเชื่อว่า ราษฎรทุกคนที่ได้ยินพระองค์รับสั่ง ต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “นานแค่ไหนก็จะรอ” หรือ “นานแค่ไหนก็รอได้”



พระองค์ตรัสถามสารทุกข์ของประชาชน ทรงแสดงความห่วงใยราษฎร เรื่องการทำนาและเรื่องน้ำ เป็นอย่างยิ่ง


จากนั้น ขบวนเสด็จต้องรีบเดินทางต่อไปถึงบ้านหนองบัวโคก อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ บรรยากาศก็ไม่ได้แตกต่าง จนกระทั่ง เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า เสด็จพระราชดำเนินมาเพื่อต้องการทราบทุกข์สุขที่แท้จริงของประชาชน พระราชทานกำลังใจให้ทุก ๆ คน ตั้งหน้าตั้งตาทำงานสู้ภัยธรรมชาติในเรื่องน้ำ และทรงพระราชทานพรว่า ขอให้มีความอุดมสมบูรณ์ และขอให้ทุกคนมีความมานะในการประกอบอาชีพ พสกนิกรต่างก็มีความปีติยินดีอย่างเหลือล้น เพราะต่างเดินทางมาจากระยะทางไกล ๆ ซึ่งพระองค์ก็เสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรอย่างทั่วถึง


หลังจากพระองค์เสร็จสิ้นในการเสด็จเยี่ยมราษฎรในจังหวัดนครราชสีมา และชัยภูมิแล้ว ในวันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2498 เวลา 12.00 น. เสด็จขึ้นประทับรถไฟพระที่นั่งเคลื่อนออกจากอำเภอบัวใหญ่ ถึงสถานีเมืองพล อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ในเวลา 12.44 น. พสกนิกรเฝ้าชมพระบารมีอย่างเนืองแน่น ข้างทางรถไฟ พระสงฆ์ถวายสวดชัยมงคลคาถา เสียงไชโยถวายพระพรดังกึกก้องไปทั่ว พระองค์ทรงให้ราษฎรเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดเช่นเคย ตาสียายสา ชาวบ้านอำเภอเมืองพลและอำเภอใกล้เคียง นำสิ่งของทั้งผลิตผลทางการเกษตรและอื่น ๆ ที่คิดว่าดีที่สุด มีคุณค่าที่สุด มาถวายให้พระเจ้าแผ่นดินของพวกเขาด้วยความซาบซึ้งในน้ำพระทัย อย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์เสด็จมาเยี่ยม


แม้จะใช้เวลาไม่นาน มันก็เพียงพอแล้วสำหรับประชาชน แค่เสี้ยววินาทีขอให้ได้เห็นพระองค์ท่าน ก็ถือเป็นบุญใหญ่หลวง หาอะไรมาเปรียบไม่ได้แล้ว ถ้าใครยังมีชีวิตอยู่ จนถึงขณะนี้ ก็เข้าสู่วัยชรา เป็นไม้ใกล้ฝั่งเข้าไปทุกคนแล้ว แต่ความทรงจำในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2498 ก็คงจะมีการบอกเล่าสืบต่อถึงลูกหลาน และจะตราตรึงอยู่ในหัวใจของพวกเขาไปตราบชั่วชีวิต


ผมในฐานะที่เป็นลูกหลานชาวเมืองพล มีความรักและภักดีเปี่ยมล้นในสถาบันอันเป็นที่รักเฉกเช่นคนไทยทุกคน แอบยินดี แอบตื้นตันปลาบปลื้มในใจทุกครั้งที่ได้เห็นภาพประวัติศาสตร์ แอบอิจฉาปู่ย่าตายาย ที่ได้เฝ้ารับเสด็จอย่างใกล้ชิดในวันนั้นเป็นครั้งแรกและอาจเป็นครั้งเดียวของหลาย ๆ คน แม้บางคนไม่ได้อยู่แล้วในวันนี้ แต่การเสด็จแวะเมืองพลของพระองค์ครั้งนี้ จะเป็นเหตุการณ์ที่จารึกอยู่ในดวงใจของผม แม้ไม่ได้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ ผมจะจดจำในฐานะพสกนิกร ในฐานะลูกหลานของชาวเมืองพล ที่ครั้งหนึ่งในเสี้ยวประวัติศาสตร์ของถิ่นฐานบ้านเกิด ปู่ย่าตายายได้เข้าเฝ้ารับเสด็จพระเจ้าแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ณ สถานที่แห่งนี้


ขบวนรถไฟพระที่นั่ง เคลื่อนตัวออกจากสถานีเมืองพล ต่อไปยังอำเภอบ้านไผ่ เพื่อเข้าสู่จังหวัดขอนแก่น อย่างช้า ๆ ไม่นานก็ลับตาไป แต่คราบน้ำตาแห่งความปลาบปลื้มยินดี ยังไม่จางหายไปจากใบหน้าที่เปี่ยมด้วยความสุขของราษฎรชาวเมืองพล


ถวายความอาลัย พระเจ้าอยู่หัว “ภูมิพล” ผู้เป็นพลังแผ่นดิน
ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป
สันติ สร้างนอก