"ธนาธร"เชิดชู 58 นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเหยื่ออุ้มฆ่า

2020-11-15 17:50:34

"ธนาธร"เชิดชู 58 นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเหยื่ออุ้มฆ่า

Advertisement

"ธนาธร" ร่วมวงเสวนา "แด่นักสู้ผู้จากไป" เชิดชู 58 นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเหยื่ออุ้มฆ่า ถอดบทเรียนอดีตสู่การต่อสู้ในอนาคต

เมื่อวันที่ 15 พ.ย.  ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมเป็นหนึ่งในวิทยากรงานเสวนา "แด่นักสู้ผู้จากไป ประชาธิปไตยแบบไหนที่จะไม่ปล่อยให้ใครลอยนวลพ้นผิด" อันเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการแสดงภาพถ่าย ที่นำเสนอเรื่องราวของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวไทย 58 คนที่ถูกลอบสังหารหรือบังคับให้สูญหาย โดยงานเสวนาดังกล่าว เป็นวงพูดคุยปิดท้ายการจัดแสดงผลงานศิลปะ ซึ่งนอกจากนายธนาธรแล้ว ยังมีนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับให้สูญหาย, นางสอน คำแจ่ม ภรรยาของนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนดงมะไฟ ที่ถูกลอบสังหาร น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ แกนนำเยาวนปลดแอกและทายาทนายเตียง ศิริขันธ์ อดีตนักสู้เสรีไทยและรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปไตย ที่ถูกบังคับให้สูญหาย และ นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน ร่วมวงเสวนา

นายธนาธร กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ลอบสังหารและบังคับสูญหายนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วในสังคมไทย ตั้งแต่ตอนที่ตนเติบโตมาก็ได้ยินชื่อของทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงาน, ต่อมาได้รู้จักชื่อของเจริญ วัดอักษร นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนต่อต้านโรงไฟฟ้าหินกรูด-บ่อนอก, โตมาอีกหน่อยตนก็ได้รู้จักชื่อสมชาย นีละไพจิตร ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ถ้ามาถึงคนรุ่นนี้ จะได้ยินเรื่องราวของชัยภูมิ ป่าแส, บิลลี่, สุรชัย แซ่ด่าน, ต้าร์ วันเฉลิม  จะเห็นได้ว่ามันไม่เคยหายไปเลย เราได้ยินเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ คุณูปการของคนเหล่านี้ไม่ได้รับการพูดถึงยกย่องเท่าที่ควร เช่น สิทธิลาคลอด 90 วันและระบบประกันสังคมที่เราได้รับอยู่ทุกวันนี้ ไม่มากก็น้อยมาจากการต่อสู้ของทนง โพธิ์อ่าน, ทรัพยากรในบ้านหินกรูด-บ่อนอกที่ยังหลงเหลืออยู่ทุกวันนี้ มาจากการต่อสู้ของเจริญ วัดอักษร และยังไม่รวมกับการต่อสู้ของประชาชนหลายคนที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมากนัก เช่นกรณีของคุณมณฑา ชูแก้ว และคุณปราณี บุญรักษ์ สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ถูกยิงเสียชีวิตและศพถูกทำลายเพื่อข่มขู่ไม่ให้สมาชิกที่เหลือสู้ต่อ

"เหตุที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็เพราะที่ผ่านมาพวกเราในสังคมต่างเพิกเฉย ไม่ลุกขึ้นปกป้องและยืนยันสิทธิของพวกเขา ที่ออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องดิน น้ำ ฟ้า ป่า ของพวกเรา เรื่องพวกนี้เป็นทั้งเรื่องของกระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ-สังคม และเป็นเรื่องของประชาธิปไตยทั้งสิ้น หลายกรณีผู้กระทำผิดไม่เคยถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ด้านกลับของเรื่องนี้ก็คือประชาชนในประเทศนี้ไม่มีอำนาจ ไม่มีความหมาย ไร้ค่าในสายตาของชนชั้นนำ นี่คือข้อเท็จจริง นี่คือด้านกลับว่าทำไมประชาชนไม่เคยได้รับการปกป้อง เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะชนชั้นนำต่างคิดว่าพวกคุณไม่มีค่า ไม่มีความหมาย" นายธนาธร กล่าว


นายธนาธร กล่าวอีกว่า ถ้าเราลองมาดูกรณีล่าสุด 3 กรณี เฉพาะที่เกิดขึ้นในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีดงมะไฟ ที่กลุ่มทุนติดต่อกับรัฐส่วนกลางใน กทม.ขอสัมปทานเหมืองได้สำเร็จ เราจะเห็นได้ว่าชาวบ้านคือผูัที่ต้องสูญเสียทรัพยากรภูเขาและต้นน้ำไป เป็นผู้ที่ต้องรับกรรม รับมลพิษ และฝุ่นควันที่เกิดจากการระเบิดหิน แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนกลับไม่ได้มีอะไรดีขึ้นเลย หรือในกรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่ประชาชนกำลังออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องทะเลจะนะจากความพยายามสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งที่สอง ที่จะนำไปสู่การทำลายหาดทราย วิถีชีวิตประมง ความหลากหลายทางชีวภาพ และความสวยงามของธรรมชาติ หากเราไปดูในพื้นที่จะนะจริงๆ จะพบว่ายังคงมีวิถีชีวิตชาวประมงขนาดเล็กดำรงอยู่ กุ้ง หอย ปู ปลา อุดมสมบูรณ์ แล้วเรากำลังจะทำลายหาดสวนกงเพื่อทำการพัฒนาท่าเรือ แล้วอาชีพประมงพื้นบ้านจะเอาไปไว้ที่ไหน รวมทั้งกรณีอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง ที่จะสร้างขึ้นที่น้ำตกโตนสะตอ เกิดขึ้นจากหน่วยงานรัฐส่วนกลางอยู่ๆไปนั่งวิเคราะห์ว่าต้องมีอ่างเก็บน้ำในจุดนี้ ทั้งๆ ที่เป็นแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว แล้วเอาโครงการไปยัดเยียดให้ชาวบ้าน ชาวบ้านก็ลุกขึ้นสู้ จนถูกข่มขู่คุกคาม ทำประชาพิจารณ์ก็ทำแบบหลอกๆ เอาคนสนับสนุนเข้าร่วม กีดกันคนต่อต้าน ใช้หน่วยความมั่นคงไปกั้นคนต่อต้านเป็นแถวเป็นแนว

"วันนี้เราต้องพูดให้ชัดว่า เราไม่ควรที่จะปล่อยให้พวกเขาต้องสู้อย่างโดดเดี่ยว เราไม่ควรที่จะปล่อยให้การอุ้มหาย การถูกข่มขู่คุกคามเป็นเรื่องปกติสามัญในสังคม เราไม่ควรจะปล่อยให้รัฐกับทุนออกแบบโครงการจากส่วนกลางเพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติจากประชาชน แล้วประชาชนต้องมารับกรรมจากการพัฒนาต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งทุกอย่างมันเกิดจากการที่ประชาชน อำนาจ และทรัพยากรอยู่ห่างไกลกันมาก แล้วยังมีคนกลางที่แทรกตัวเองอยู่ระหว่างชาวบ้าน ตั้งแต่ระดับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ไปจนถึงระบบราชการต่างๆ ที่ถือครองอำนาจและทรัพยากร ใช้อำนาจในการต่อรองกับชาวบ้านแล้วสร้างระบบอุปถัมภ์ขึ้นมา กดให้ประชาชนต้องยอมรับความเหลื่อมล้ำและการละเมิดสิทธินี้ต่อไป เพราะฉะนั้น ยิ่งถ้าเราทำให้อำนาจและทรัพยากรอยู่ใกล้ประชาชนได้มากเท่าไหร่ ตัด agent ที่แทรกกลางระหว่างประชาชน อำนาจ และทรัพยากรได้มากเท่าไหร่ ปัญหาเหล่านี้ก็จะน้อยลง ถ้าคุณเอาทุกปัญหามาวางไว้ตรงกลาง คุณจะเห็นได้ว่ามันล้วนมี pattern เหมือนกัน ก็คือโครงสร้างอำนาจรัฐที่ประชาชนไม่มีความหมาย ประชาชนไม่มีเสียง และทรัพยากรถูกรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางนั่นเอง" นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวด้วยว่าสำหรับข้อเสนอนั้น ตนคิดว่าการต่อสู้จากนี้เป็นต้นไป จะต้องทำในสามด้านด้วยกันคือ 1) การต่อสู้เชิงประเด็น 2) การต่อสู้เชิงระบบ และ 3) การต่อสู้เชิงวัฒนธรรม 1. การต่อสู้เชิงประเด็น การต่อสู้ทีละประเด็นยังคงมีความสำคัญอยู่ ไม่ว่าจะในรูปแบบของการชุมนุม การเรียกร้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การขอพื้นที่จากสื่อ ทำให้กลายเป็นวาระทางสังคม ยังคงมีความสำคัญอยู่ ทำให้ประเด็นของแต่ละกลุ่มกลายเป็นเรื่องสาธารณะ ประชาชนคนอื่นๆช่วยกันพูด กดไลค์ กดแชร์ ทำคนละไม้ละมือให้กลายเป็นกระแสได้  2. การต่อสู้เชิงระบบ มีความจำเป็นไม่แพ้กัน ทุกคน ทุกกลุ่มต้องต่อสู้ในเชิงระบบด้วย เพราะการต่อสู้กับการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและการละเมิดสิทธิประชาชน ไม่ว่าจะในกรณีไหนก็ตาม ล้วนแต่มีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือการต่อสู้เพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจและทรัพยากรร่วมกันอย่างแท้จริง ทุกประเด็นจะต้องเกี่ยวแขนต่อสู้ร่วมกัน ยืนยันว่าการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต้องให้ประชาชนมีอำนาจสูงสุด จะต้องปฏิรูประบบรัฐราชการรวมศูนย์ ปฏิรูปกรระบวนการยุติธรรม 3. การต่อสู้เชิงวัฒนธรรม ที่ตนเห็นว่ามีความสำคัญมาก เราต้องกลัมาปลูกฝังค่านิยมพลเมืองกันใหม่ ว่าประเทศนี้เราเป็นเจ้าของร่วมกัน การเมืองไม่ใ่ช่เรื่องสกปรก และเราต้องสนใจเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่ออนาคตของลูกหลานเรา เพราะตราบใดที่ยังมีคนเชื่อว่าเราต้องไม่สนใจการเมือง ผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็จะยังคงเป็นผู้มีอำนาจต่อไป นี่คือวาทกรรมอำนาจนิยมที่ล้าหลัง วาทกรรมที่บอกว่าประชาชนโง่ เราต้องสู้กับวาทกรรมเหล่านี้ เพื่อจะบอกว่าสิทธิในประเทศนี้ ทรัพยากรในประเทศนี้ล้วนเป็นของพวกเรา อย่าให้วัฒนธรรมอำนาจนิยมรุกคืบเข้ามาได้อีก