"ศรีสุวรรณ" จ่อร้อง "ชวน" ขอทราบการตรวจสอบรายชื่อแก้ รธน.ฉบับไอลอร์

2020-11-15 15:30:19

 "ศรีสุวรรณ" จ่อร้อง "ชวน" ขอทราบการตรวจสอบรายชื่อแก้ รธน.ฉบับไอลอร์

Advertisement

"ศรีสุวรรณ" เตรียมร้อง "ชวน" ขอทราบการตรวจสอบรายชื่อแก้ รธน.ฉบับไอลอร์มีปลอมหรือไม่

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) ได้อ้างรายชื่อประชาชนจำนวน 100,732 รายชื่อ ส่งให้รัฐสภาเมื่อวันที่ 22 ก.ย.63 ที่ผ่านมา เพื่อใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.256(1) ในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้วนั้น การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวทั้งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งของฝ่ายค้านและของรัฐบาล รวมทั้งของไอลอว์นั้น ถูกสังคมวิพากวิจารณ์กันอย่างมากทั้งที่เห็นด้วย และที่ไม่เห็นด้วยก็มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามครรลองของกฎหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะในส่วนของไอลอร์นั้น ผู้ที่มีสิทธิที่จะร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้นั้น ต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น เมื่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับรายชื่อจากตัวแทนไอลอร์มาดำเนินการตรวจสอบพบว่าผู้ร่วมลงชื่อจริงมีเพียง 98,824 คนเท่านั้น ซึ่งต่อมาประธานรัฐสภาได้จัดให้มีการประกาศรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และจัดเอกสารไว้เพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศ คือสันที่ 14 ต.ค.2563 ณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้มีรายชื่อนั้นด้วยแล้ว

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า บัดนี้ได้ครบกำหนดระยะเวลาของการตรวจสอบแล้ว แต่เป็นที่สงสัยว่าหนังสือที่ทางเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งไปยังผู้มีรายชื่อทั้ง 98,824 นั้นมีผู้ยืนยันกลับมายังสำนักงานเลขาธิการสภาฯ จำนวนเท่าใด และครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้หรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากตาม พรบ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2556 บัญญัติไว้ใน ม.14 ว่า “ผู้ใดลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร หรือใช้ หรืออ้างลายมือชื่อปลอมเช่นว่านั้น เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่แท้จริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”  ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะเดินทางไปยื่นคำร้องเพื่อขอตรวจสอบหลักฐานการยืนยันรายชื่อของผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายว่าครบ 50,000 รายชื่อหรือไม่ และมีผู้ใดลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร หรือใช้ หรืออ้างลายมือชื่อปลอมหรือไม่ เพื่อที่จะได้เร่งรัดให้รัฐสภาหรือสภาผู้แทนฯ ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีเอากับผู้ริเริ่มการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อประธานรัฐสภาในวันจันทร์ที่ 16 พ.ย.63 เวลา 10.00 น. ณ อาคารรัฐสภา