หากผู้ชายไร้ "พวงไข่" อะไรจะเกิดขึ้น ?!

2020-11-13 14:00:51

หากผู้ชายไร้ "พวงไข่" อะไรจะเกิดขึ้น ?!

Advertisement

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อ "ผู้ชาย" ทั้งหลาย ถูกตัดพวง "อัณฑะ" ออกไป ... ?



อัณฑะ (Testicle) เป็นต่อมไร้ท่อของเพศชายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการสืบพันธุ์ ผู้ชายจะมีอัณฑะ 2 ลูก ที่อาจมีความแตกต่างกันในเรื่องของขนาดได้ อัณฑะมีหน้าที่สร้างอสุจิ (Sperm) และฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญของเพศชาย




ลูกอัณฑะ จะอยู่ภายในถุงอัณฑะ ซึ่งเป็นถุงที่อยู่ระหว่างองคชาตกับขา ลูกอัณฑะแต่ละลูกถูกยึดให้อยู่กับที่ด้วยสเปอร์มาติก คอร์ด (Spermatic cord) ซึ่งเป็นโครงสร้างของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันและกล้ามเนื้อรอบๆ หลอดตัวนำอสุจิ (Vas deferens)

อัณฑะจะมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เรียกว่าทูนิกา (Tunica) ปกคลุม ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชั้น คือ



ชั้นใน (Tunica albuginea)

ชั้นนอก (Tunica vaginalis)





เนื้อเยื่อทูนิกาชั้นใน จะแบ่งลูกอัณฑะออกเป็นส่วนย่อยๆ ที่เรียกว่า Lobules ซึ่งโดยรวมแล้ว Lobules ภายในอัณฑะทั้งหมดจะมีท่อเซมินิเฟอรัส (Seminiferous tubules) ซึ่งเป็นท่อรูปตัว U ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อกับท่อรวมของหลอดสร้างตัวอสุจิ (Rete testis) ทั้งหมดประมาณ 800 ท่อ และท่อรวมของหลอดสร้างตัวอสุจินั้นก็จะเชื่อมระหว่างแต่ละท่อเข้ากับหลอดน้ำอสุจิ (Epididymis) ซึ่งเป็นท่อที่มีการขดตัวอยู่ด้วยกัน และสามารถแบ่งออกเป็นส่วนหัว ตัว และหางซึ่งจะเชื่อมเข้ากับหลอดตัวนำอสุจิ



ลูกอัณฑะ มีเซลล์ภายในลูกอัณฑะอยู่ทั้งหมด 2 ชนิด ที่ทำให้สร้างอสุจิและฮอร์โมนได้ คือเซลล์สืบพันธุ์ (Germ cells) และ supportive stromal cells โดยเซลล์สืบพันธุ์จะอยู่ภายในท่อเซมินิเฟอรัส เพื่อทำหน้าที่สร้างอสุจิ

นอกจากนั้นภายใน Tubules ยังมีเซลล์ในกลุ่ม stromal cell ที่ชื่อเซลล์เซอร์ทอร์ไล (Sertoli cells) ซึ่งช่วยให้เซลล์สืบพันธุ์สามารถสร้างและขนส่งอสุจิได้ โดยอสุจิจะเดินทางผ่านท่อเซมินิเฟอรัส และท่อรวมของหลอดสร้างตัวอสุจิ เข้าสู่หลอดน้ำอสุจิ ซึ่งเป็นบริเวณที่อสุจิจะมีการเติบโตเต็มที่ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์





เมื่ออสุจิโตเต็มที่แล้วก็จะเดินทางออกไปสู่หลอดตัวนำอสุจิ ซึ่งจะเกิดการรวมตัวเข้ากับสารน้ำจากต่อมลูกหมากและต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (Seminal vesicle) ทำให้เกิดน้ำอสุจิ ก่อนที่น้ำอสุจิจะถูกหลั่งออกนอกร่างกายผ่านทางท่อปัสสาวะ นอกจากเซลล์เซอร์ทอร์ไลแล้ว ยังมีเซลล์อีกหลายประเภทที่จัดอยู่ในกลุ่มของ Stromal cells ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกันไป โดยเซลล์เลย์ดิก (Leydig cells ) เป็น Stromal cells รูปแบบเฉพาะชนิดหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ระหว่างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันระหว่างท่อเซมินิเฟอรัส ใต้ทูนิกาชั้นในและแผ่นเนื้อเยื่อที่แบ่งอัณฑะออกเป็น 2 ส่วน

เซลล์ประเภทนี้เป็นเซลล์ที่เป็นแหล่งของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ที่ช่วยให้เซลล์สืบพันธุ์สามารถสร้างอสุจิ และจำเป็นต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศชาย รวมถึงช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศให้กับผู้ชายอีกด้วย





ทั้งนี้ หากเมื่อใดที่ผู้ชายไร้อัณฑะ จากภาวะนั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายและจิตใจ ซึ่งการตัดไข่เป็นหนึ่งวิธีที่ทำให้ร่างกายของผู้ชายมีความใกล้เคียงกับผู้หญิงและเป้าประสงค์หลักๆ คือมาจากสาวข้ามเพศทั้งหลาย ว่าง่ายๆ ก็คือการแปลงเพศ โดยเรื่องนี้ถือเป็นการตัดสินใจที่ใหญ่มากๆ และส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้ วันนี้เราจึงมาเอ่ยถึงเรื่องนี้กันเสียหน่อยเพื่อเป็นความรู้ประดับสมอง เผื่อมีใครต้องตกอยู่ในเหตุการณ์เช่นนี้ อาจมีวิธีจัดการกับปัญหาที่มีให้จบลงได้



ผลข้างเคียงของการตัดไข่ออกไปนั้น ที่แน่นอนคือพวงเงาะสองลูกหายไปแน่นอน และไม่มีโอกาสกลับมาเป็นผู้ชาย รวมถึงมีลูกเหมือนผู้ชายปกติได้ เพราะยังไม่มีสถาบันทางการแพทย์ที่ไหนสามารถเก็บลูกอัณฑะแช่แข็ง แล้วเอามาต่อใหม่ได้เหมือนเดิม ส่วนผลทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ถ้าเป็นวัยรุ่น การขาดฮอร์โมนเพศในวัยรุ่นที่เจริญเติบโตยังไม่เต็มที่ อาจมีผลต่อความสูง และมวลกระดูก นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนอีกด้วย! ดังนั้นการตัดใข่ในวัยรุ่นถือเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักๆ และรอบคอบเป็นอย่างมาก



ซึ่งขั้นตอนในการตัดไข่ออกนั้น ไม่ใช่ว่าเดินไปหาแพทย์จ่ายเงินแล้วจะทำได้เลย หากจะต้องมีขั้นตอนเพื่อเช็กให้มั่นใจว่าคนๆ นั้น พร้อมที่จะตัดจริงหรือไม่ ซึ่งปกติแล้วเด็กที่เป็นเยาวชนอายุน้อย แพทย์เขาจะไม่ทำให้ เพราะถือเป็นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงไปมาได้ โดยอายุต่ำสุดที่ทางการแพทย์ยอมให้ตัดไข่ได้คือ 18 ปี ซึ่งจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง นั่นหมายความว่าก็ต้องพูดคุยกับที่บ้านระดับหนึ่งแล้ว จากนั้นจะมีการพบกับจิตแพทย์เพื่อประเมินว่าคนๆ นั้นมีสภาพจิตใจที่ต้องการเป็นผู้หญิงจริงๆ เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แพทย์จะให้ฮอร์โมนเพศหญิง กับยาต้านฮอร์โมนเพศชาย เพื่อให้ร่างกายมีรูปร่างคล้ายผู้หญิง ลดหนวดเคราลง และให้วัยรุ่นคนๆ นั้นใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงสักระยะ ประมาณ 1 – 2 ปี



อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ถ้าหากคนๆ นั้นมั่นใจแล้วว่าการเป็นผู้หญิงมีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ แพทย์จึงจะพิจารณาตัดไข่ออกไป ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจขั้นสุดท้ายที่ไม่อาจหวนกลับได้

จริงๆ เรื่องนี้ก็เป็นการตัดสินใจของแต่ละคน แต่เรื่องราวนี้ก็ทำให้เราเห็นว่าลูกอัณฑะนั้นก็มีความสำคัญต่อความเป็นชาย ที่ควรรักษาเป็นอย่างยิ่ง ไม่ควรได้รับการกระแทกที่รุนแรง (ใครที่มักแกล้งบีบไข่ของเพื่อนก็ให้ระวังดีๆ) สรุปแล้วบทความนี้ไม่อาจระบุได้ว่า ท้ายที่สุดแล้วการตัดไข่เป็นเรื่องดีหรือไม่ เอาเป็นว่าขึ้นอยู่กับความสุขของแต่ละคนก็แล้วกัน