"วิษณุ"ชี้ ส.ส.-ส.ว.ยื่นศาลตีความร่างแก้ไข รธน. อาจเจตนาดี วันใดวันหนึ่งต้องส่งอยู่แล้ว ยันรัฐบาลหนุนร่างแก้ไข รธน. อย่างน้อยก็ฉบับร่างของพรรคร่วมรัฐบาล
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางส่วนยื่นตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ว่า เรื่องนี้พูดยาก เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของ ส.ส.ไม่ใช่ของรัฐบาล หาก ส.ส.และ ส.ว.สงสัยจะยื่นตีความนั้นก็พูดในหลักการแล้วอย่าทำให้กระบวนการสะดุด เท่าที่ดูก็ไม่สะดุดก็ทำไป เพราะเขาถือว่าไม่ทำตอนนี้ก็ทำในอนาคตต่อไปแล้วอาจจะสายเกินแก้ หรือจะมีความเสียหายเช่นทำประชามติแล้วจะยิ่งแย่กว่านี้ เดาเอาว่าเขาอาจเจตนาดีเพราะไม่วันใดวันหนึ่ง มันก็ต้องส่งอยู่แล้ว เพราะการส่งตอนนี้อาจจะประหยัดเวลามากกว่าเพราะมันเป็นภาคบังคับ ถ้าออกเสียงประชามติเสร็จแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ระบุว่า หากมีสมาชิกรัฐสภาสงสัย ก็มีสิทธิเข้าชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายใน 30 วัน หากส่งตอนนี้ อาจประหยัดเวลา 1 เดือนนั้นไป และเมื่อถึงตอนนั้นอาจไม่ต้องส่งก็ได้ หากมีอะไรตอนนี้ ยังแก้ไขได้ทัน เป็นการกันไว้ดีกว่าแก้ ภายใต้ข้อแม้ไม่ให้สะดุด เพราะดูแล้วมันไม่สะดุดอะไร เนื่องจากการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ มีการลงมติวาระ 1 หากผ่าน ก็ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาพิจารณา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และหากในเวลาดังกล่าว เขาส่งศาลรัฐธรรมนูญสำเร็จ เรื่องก็ไปอยู่ในศาล หากศาลบอกไม่ขัดก็หมดเรื่อง กระบวนการก็เดินหน้า โดยไปรอกระบวนการทำประชามติ แต่ต้องรอ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติมาใช้บังคับ ซึ่งคาดว่าเป็นเดือน ก.พ.ปีหน้า และยืนยันหากศาลรับเรื่องไว้กระบวนการในรัฐสภาก็ไม่หยุด
ต่อข้อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ว่ารัฐบาลผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ อย่างน้อยก็ฉบับร่างของพรรคร่วมรัฐบาล แต่ไม่กล้าพูดถึงฉบับอื่น เมื่อถามต่อว่ามีโอกาสหรือไม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องหรือไม่ เพราะเรื่องยังไม่เกิดขึ้น นายวิษณุ กล่าวว่า ก็มีโอกาส เพราะเขายื่นตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 31 ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นความขัดแย้ง เป็นเรื่องสงสัยในอำนาจหน้าที่ของสภา ทั้งนี้ มีหลายครั้งที่ศาลไม่รับเรื่องไว้พิจารณา เมื่อถามอีกว่า คาดการณ์ไว้หรือไม่ว่านอกจากประเด็นเรื่องตีความเรื่อง ส.ส.ร. จะมีการยื่นตีความว่าการทำประชามติจะมีก่อนหรือหลังรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ร่างที่เขายื่นตอนนี้มีประเด็นดังกล่าวด้วย เพราะถ้าถามแค่ตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่ ศาลคงไม่รับ