แพทย์แผนไทยแนะรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรรสเปรี้ยว ขม เผ็ดร้อน ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเกิดโรคช่วงปลายฝนต้นหนาว
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. พญ.หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ช่วงนี้สภาพอากาศเริ่มเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเป็นช่วงของการปรับเปลี่ยนฤดูกาลจากปลายฤดูฝน เข้าสู่ต้นฤดูหนาว หรือที่เราเรียกว่า ช่วงปลายฝนต้นหนาว หลายพื้นที่ของประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเย็นลง ส่งผลกระทบต่อความสมดุลภายในร่างกาย ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้ง่าย มีโอกาสเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ตามหลักและทฤษฎีของศาสตร์การแพทย์แผนไทย ช่วงปลายฝนต้นหนาวจะส่งผลให้ธาตุน้ำในร่างกายเกิดความแปรปรวนหรือเสียสมดุลได้ง่าย ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ทัน มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับธาตุน้ำ เช่น หวัด น้ำมูกไหล ภูมิแพ้อากาศ หากติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำจะทำให้อาการของโรครุนแรงมากยิ่งขึ้น และผลจากการแปรปรวนของธาตุน้ำจะทำให้ธาตุลมหรือเลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก เกิดอาการไอ จาม คัดจมูก ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และอาจมีอาการไข้ (ไข้หัวลม) ที่เกิดจากธาตุไฟกำเริบตามมาได้
ช่วงการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย แนะนำให้เน้นการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรรสเปรี้ยว ขม และเผ็ดร้อน เนื่องจากสมุนไพรรสเปรี้ยว จะช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ ทำให้ชุ่มคอ เช่น มะเขือเทศ มะนาว มะขาม ผักติ้ว ใบชะมวง ฯลฯ ส่วนสมุนไพรรสขม ช่วยแก้ไข้ ต้านการอักเสบ ช่วยให้หลับสบาย เช่น ดอกแค ขี้เหล็ก สะเดา มะแว้งต้น มะแว้งเครือ มะเขือพวง และสมุนไพรรสเผ็ดร้อน จะช่วยเพิ่มความอบอุ่นของร่างกาย บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก และบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ แมงลัก กะเพรา กระเทียม สำหรับเมนูอาหาร ที่แนะนำ เช่น แกงส้มดอกแค (แก้ไข้หัวลม) ต้มยำ ส่วนน้ำสมุนไพร ได้แก่ น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำกระเจี๊ยบ และน้ำอัญชันมะนาว เป็นต้น
นอกจากนี้หากมีอาการไข้ เป็นหวัด เจ็บคอ สามารถบรรเทาอาการได้ด้วย“ฟ้าทะลายโจร”ซึ่งเป็นยาที่พัฒนาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยรับประทานในรูปแบบแคปซูลผงยา ครั้งละ 1,500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน หรือรูปแบบแคปซูลสารสกัดฟ้าทะลายโจร(ที่มีแอนโดรกราฟโฟไลด์ 9-10 มก. หรือ 20 มก. ต่อแคปซูล) ให้รับประทานครั้งละ 1 หรือ 2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง หากรับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแพ้ ควรหยุดใช้และไปพบแพทย์ทันที
นอกจากนี้ ให้ประชาชนตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ ให้แข็งแรง รักษาความอบอุ่นของร่างกายด้วยการสวมเสื้อหนาๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่หนาวเย็น รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 แก้ว นอนพักผ่อนวันละ 6 - 8 ชั่วโมง และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ