“ชวน”ชี้กระจายอำนาจที่ดีให้ท้องถิ่นมีโอกาสเท่าส่วนกลาง

2020-11-10 21:30:06

“ชวน”ชี้กระจายอำนาจที่ดีให้ท้องถิ่นมีโอกาสเท่าส่วนกลาง

Advertisement

“ชวน”ชี้การกระจายอำนาจที่ดีต้องให้ท้องถิ่นมีโอกาสเท่าส่วนกลาง

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา  เป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถา เรื่อง “บทบาท หน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในการผลักดันร่างกฎหมายท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ” ให้แก่ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และข้าราชการท้องถิ่น จำนวน 1,700คน


นายชวน กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า หลักการกระจายอำนาจการปกครองอยู่ที่การกระจายอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง อันถือเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะเห็นได้ว่า การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการปกครองและการบริหารตนเอง โดยได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการกระจายอำนาจตั้งแต่ปี 2534 ขณะนั้นตนได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นครั้งแรก โดยได้เสนอแนวคิดการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ด้วยเหตุผลที่ว่า ได้เห็นความแตกต่างความเจริญของส่วนกลางและต่างจังหวัด ทำไมคนที่อยู่ต่างจังหวัดต้องเข้ามาเรียนที่กรุงเทพ ทำไมต้องมารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงเห็นว่าสิ่งสำคัญที่จะต้องกระจายออกไป 3 เรื่อง คือ 1.การกระจายรายได้ 2.การกระจายโอกาส และ 3.การกระจายอำนาจ ซึ่งการกระจายที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การกระจายโอกาส กล่าวคือการทำให้ภูมิภาคมีโอกาส ท้องถิ่นมีโอกาส แม้จะมีโอกาสไม่เทียบเท่ากับส่วนกลาง แต่อย่างน้อยก็จะต้องมีโอกาสเพียงพอที่ตนเองจะสามารถเลือกได้ 


นายชวน กล่าวต่อว่า การกระจายอำนาจปรากฏเห็นผลเป็นรูปธรรม หลังมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะมีบทบัญญัติว่าด้วยการกระจายอำนาจกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ ในขณะที่ตนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันให้มีการประกาศใช้พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งเห็นได้ว่าการกระจายอำนาจให้แก่อปท. ตามแผนการกระจายอำนาจ นับเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการของการกระจายอำนาจของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการกับอปท.ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การปกครองท้องถิ่นไทยในช่วงหลัง พ.ศ. 2540 เป็นการปกครองท้องถิ่นยุคใหม่ ซึ่งมีความแตกต่างไปจากการปกครองท้องถิ่นในช่วงก่อนหน้านั้น คือ มีความเป็นอิสระ และเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น พัฒนาการที่เกิดขึ้นนี้ ต้องยอมรับว่า เป็นผลสำคัญจากการผลักดันร่างกฎหมายท้องถิ่นและการกระจายอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร