สธ.แจงทูตฮังการีติดเชื้อจาก รมต.

2020-11-10 17:25:14

สธ.แจงทูตฮังการีติดเชื้อจาก รมต.

Advertisement

สธ.แจงผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศ 1 ราย เป็นทูตฮังการี สัมผัสใกล้ชิดกับ รมต.ที่ติดเชื้อก่อนหน้านี้ ขณะนี้รักษาในสถาบันบำราศนราดูร ไม่มีอาการ ส่วนผู้สัมผัสอื่นๆให้ผลเป็นลบ

เมื่อวันที่ 10  พ.ย. ที่กรมควบคุมโรค จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป และนายแพทย์นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการติดตามผู้สัมผัสกรณีอินเดียและฮังการี รวมถึงวัคซีนโควิด 19


นพ.โอภาส กล่าวว่า กรณีชายชาวอินเดีย อายุ 37 ปี บนเกาะพีพี จ.กระบี่ ติดเชื้อโควิด 19  ไม่มีอาการ โดยพบเชื้อปริมาณน้อย และตรวจพบภูมิคุ้มกัน IgG ขึ้น แสดงว่ามีการติดเชื้อมานานหลายเดือน ได้ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงโดยเฉพาะครอบครัวเดียวกัน ได้แก่ ภรรยา น้องชาย น้องสะใภ้ และหลานสาว ผลตรวจ RT-PCR ให้ผลเป็นลบทั้ง 4 ราย โดยภรรยา น้องชาย และน้องสะใภ้ ผลตรวจภูมิคุ้มกัน IgG ขึ้นเช่นกัน แปลว่าทั้ง 3 รายนี้น่าจะติดเชื้อมานานหลายเดือน ถือว่าไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อคนอื่นได้ และอยู่ในระบบกักกันโรค จนครบ 14 วัน สำหรับผู้สัมผัสที่เหลือในจังหวัดกระบี่ สุโขทัย ภูเก็ต และเชียงใหม่ เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 79 ราย และสัมผัสเสี่ยงต่ำ 283 ราย ติดตามได้เกือบทุกราย ไม่พบรายใดมีการติดเชื้อเพิ่มเติม ทั้งนี้ จากการหารือกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ ทราบว่า ประชาชนกระบี่มีการใส่หน้ากากเพิ่มขึ้นจาก 60-70 เปอร์เซ็นต์ เป็น 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ และไม่ได้ตื่นตระหนก ยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ และทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุม (Under Control) หากเป็นเช่นนี้ 4-5 วัน จะเข้าสู่ระยะปลอดภัย

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่เป็นชาย สัญชาติฮังการี อายุ 53 ปี อาชีพนักการทูต อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 2 ปี ได้ไปรับรัฐมนตรีของประเทศฮังการี ที่เดินทางมาประเทศไทยเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 ได้เข้าพักสถานที่กักกันที่รัฐกำหนด (ASQ) ผลตรวจเจอเชื้อแต่ไม่มีอาการ และได้เดินทางกลับประเทศด้วยเครื่องบินส่วนตัวแล้ว เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ทั้งนี้ หลังพบการติดเชื้อ ผู้สัมผัสทั้งหมดรวมถึงผู้ติดเชื้อรายใหม่นี้ได้เข้ารับการกักกันทั้งหมดเพื่อความปลอดภัย ทั้งในที่พักตนเองและที่กักตัวที่กำหนด  มีการตรวจหาเชื้อตามมาตรการการเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ โดยผลตรวจ RT-PCR ครั้งแรก 17 คนให้ผลเป็นลบไม่พบเชื้อ แต่พบเชื้อ 1 คน คือ ท่านทูตรายนี้ โดยผลออกเป็นบวกเมื่อคืนวันที่ 9 พ.ย. แต่ไม่มีอาการ จึงส่งเข้าไปรับการรักษาที่สถาบันบำราศนาดูร และไม่มีผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อรายนี้เพิ่มเติม เนื่องจากอยู่ในสถานที่กักกันตลอด


ด้าน นพ.นคร กล่าวว่า ส่วนกรณีบริษัท ไฟเซอร์ ประกาศผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของการทดสอบวัคซีนโควิด 19 ในคนมีประสิทธิผลป้องกันได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นความหวังที่จะมีวัคซีนใช้ในระยะเวลาอันใกล้ โดยวัคซีนดังกล่าวเป็นรูปแบบ mRNA ซึ่งประเทศไทยมีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กำลังพัฒนาวัคซีนรูปแบบเดียวกันนี้ ก็เป็นความหวังที่จะพัฒนาต่อ และสามารถนำผลการทดสอบในมนุษย์มาเปรียบเทียบกันได้ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีความปลอดภัยสูง แต่ยังต้องติดตามผลการทดสอบต่อไป เนื่องจากยังทดสอบในอาสาสมัครเพียง 3.8 หมื่นกว่าคน จาก 4.3 หมื่นกว่าคน และต้องดูประสิทธิผลการป้องกันในระยะยาวว่า ภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้นานเท่าไร และต้องฉีดกระตุ้นเพิ่มเติมหรือไม่ รวมทั้งภูมิคุ้มกันตัวไหนที่เป็นตัวกำหนดการป้องกันโควิด 19 โดยประเทศไทยจะมีการหารือกับบริษัทนี้ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ย. โดยเป็นการเจรจาขอข้อมูลระหว่างกัน เพื่อตัดสินใจในเชิงนโยบายต่อไป มีการนัดหมายตั้งแต่ยังไม่ทราบผลการทดสอบในมนุษย์ สำหรับการเตรียมบริการวัคซีนโควิด 19 ประเทศไทยมีแผนเตรียมวัคซีนให้แก่คนไทย 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากร โดยกลุ่มแรกที่จะให้วัคซีนน่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการเกี่ยวกับ โรคโควิด 19 ส่วนประชากรกลุ่มอื่น จะพิจารณาจากข้อมูล เช่น อัตราการป่วย อัตราการเสียชีวิต กลุ่มใดที่อ่อนแอเสี่ยงเสียชีวิต คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2563 ก่อนจะเสนอคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ การให้บริการขึ้นกับจำนวนวัคซีนที่จัดหา