พปชร. ปฏิเสธซื้อเวลาส่งศาลตีความแก้ รธน. มั่นใจ ส.ว.ตัดสินใจโหวตง่ายขึ้น ย้ำ 17-18 พ.ย.นี้ ลงมติแน่ 7 ร่างแก้ รธน.
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) มีการประชุม ส.ส.โดยมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรค ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยได้ชี้แจงถึงระเบียบวาระ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 11-12 พ.ย.นี้
น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.โฆษกพรรคพลังประชารัฐ แถลงว่า วันนี้ มีวาระเตรียมความพร้อมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 11-12 พ.ย.นี้ และการประชุมร่วมของรัฐสภาในวันที่ 17-18 พ.ย. ที่จะมีญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าทั้ง 7 ฉบับ ส่วนกรณีที่มี ส.ส.ของพรรคส่วนหนึ่ง ร่วมลงชื่อขอเสนอญัตติ ให้รัฐสภามีมติ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ว่า จากการสอบถาม ส.ส.หลายท่านที่ร่วมลงชื่อ พูดตรงกันว่าได้หารือกันในประเด็นหน้าที่ และอำนาจของรัฐสภา ซึ่งก็ไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่า สามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะมีทั้งผู้ที่เห็นว่าทำได้และทำไม่ได้ จึงเป็นห่วงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจผิดรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต จึงร่วมลงชื่อไป โดยไม่มีเจตนาอื่นใด ที่จะทำให้ความขัดแย้ง หรือทำให้ยืดยาวออกไป โดยทุกท่านก็ทราบดีถึงนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ที่ท่านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เน้นย้ำเสมอให้เรามีความจงรักภักดีและยึดมั่นใน ชาติ ศาสน์ พระมหากษัตริย์ และสร้างความปรองดองในชาติ ขอยืนยันอีกครั้งว่าทุกอย่างที่พรรคพลังประชารัฐทำไป จะต้องทำด้วยความรอบคอบ และป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดตามมาในภายหลัง พรรคพลังประชารัฐ เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่แตะต้องหมวด 1 และ 2 เพื่อสร้างความสามัคคี ปรองดอง ในชาติ ให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในอนาคต และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่าน จะร่วมมือร่วมใจกัน นำพาชาติไทย ผ่านวิกฤติต่างๆ ไปด้วยกัน
ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ได้ชี้แจงและยืนยันไปแล้วว่า ในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ในกระบวนการพิจารณาผ่านวาระ 1 นั้น จะมีการลงมติแน่นอนทั้ง 7 ร่าง ส่วนที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตีความตามที่หลายฝ่ายสงสัยนั้น ก็ถือเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถทำได้ แต่ต้องไม่กระทบต่อการทำงานของคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นทางออกหนึ่งให้รัฐสภาได้ ส่วนสาเหตุที่ผู้ใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้ห้าม ส.ส.ร่วมลงชื่อ นั้นนายวิรัช กล่าวว่า ตรงนี้ถือเป็นเอกสิทธิ์ ของ ส.ส. ในการดำเนินการด้วยความบริสุทธ์ใจ ยืนยันว่าไม่มีปัญหา หรือเป็นการส่งสัญญาณใดๆทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมวิป 3 ฝ่าย ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ เวลา 14.00 น. เพื่อตกลงกรอบกระบวนการ สำหรับการประชุมร่วม ระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ที่จะมีการลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ
ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ย้ำว่าการเข้าชื่อของ ส.ส. ของพรรค และ ส.ว. ไม่ใช่การยื้อเวลา เพราะกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังเป็นไปตามเดิม แต่ที่ต้องทำเพราะ ส.ส. และ ส.ว. เห็นพ้องต้องกันว่า เมื่อมีข้อสงสัยของการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร. )มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทำได้หรือไม่ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งเพื่อทำให้ ส.ว. มั่นใจและร่วมลงมติรับหลักการ เพราะหากไม่ทำเช่นนี้ อาจมี ส.ว. บางคนไม่สบายใจและอาจไม่ลงมติ