แท็กซี่เตรียมบุก ทส. 9 พ.ย. ขอขยายอายุจาก 9 ปี เป็น 12 ปี

2020-11-08 13:45:48

แท็กซี่เตรียมบุก ทส. 9 พ.ย.  ขอขยายอายุจาก 9 ปี เป็น 12 ปี

Advertisement

แท็กซี่เตรียมบุก ทส. 9 พ.ย.  ขอขยายอายุจาก 9 ปี เป็น 12 ปี เนื่องจากรายได้ลดลงจากปัญหาโควิด-19

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มแท็กซี่หลายกลุ่ม จะเคลื่อนขบวนรุกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)  เช้าวันจันทร์ที่ 9 พ.ย. เรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ขยายอายุรถแท็กซี่จาก 9 ปี เป็น 12 ปี เนื่องจากรายได้ลดลงจากปัญหาโควิด-19

ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ นักวิชาการอิสระ ได้ให้ความเห็นว่าการขยายอายุของรถแท็กซี่เป็นการเพิ่มปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะรถแท็กซี่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา PM2.5 ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ รถแท็กซี่เหล่านี้เป็นรถยนต์เก่าและมีการใช้งานในอัตราค่อนข้างสูงกว่ารถปกติโดยทั่วไป การปล่อยมลพิษก็มากกว่ารถบ้านทั่วไปที่ใช้ก๊าซLPG หรือ CNG เหมือนกัน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ทำให้รถแท็กซี่มีรายได้ลดลงกว่าปกติ การขยายอายุการใช้งานของรถยนต์แท็กซี่จาก 9 ปี เป็น 12 ปี ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยให้แท็กซี่สามารถทำมากินได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลก็ควรจะให้การช่วยเหลือกลุ่มแท็กซี่ด้วย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้ช่วยเหลือกลุ่มอื่นที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วตามที่เป็นข่าว เพียงแต่ว่ามาตรการการช่วยเหลือแท็กซี่จะ ต้องไม่ทำให้ไปมีผลกระทบกับกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะการเพิ่มอายุรถแท็กซี่จาก 9 เป็น 12 ปี ก็เป็นการเพิ่มปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษ PM2.5 ด้วย คนที่รับผลกระทบนี้เป็นประชาชนทุกคน โดยเห็นได้จากปัญหาPM2.5 ในรอบปีที่ผ่านมา ทางออกของเรื่องนี้ ที่มีความเป็นได้และไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหรือกระทบน้อยที่สุดเสนอ 2 แนวทาง


แนวทางที่ 1 การปรับเปลี่ยนรถแท็กซี่เก่าที่ครบ 9 ปี เป็นรถแท็กซี่ไฟฟ้า (EV conversion) ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า เช่น 200,000 บาทต่อคัน ให้รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งอีก 100,000 บาท เป็นความรับผิดชอบของเจ้ารถแท็กซี่การเปลี่ยนเป็นรถแท็กซี่ไฟฟ้าทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมลพิษลดลงอย่างมาก ขณะเดียวกันทำให้เจ้าของรถแท็กซี่ไฟฟ้าสามารถวิ่งรถทำมาหากินได้ระยะเวลาที่อาจจะมากกว่า 3 ปี ด้วยซ้ำ มันได้ประโยชน์ทุกภาคส่วน หรือ แนวทางที่ 2 การจะต่ออายุรถแท็กซี่ที่หมดอายุ ก่อนอนุญาตต้องมีการตรวจสอบ รถแท็กซี่ทั้งด้านโครงสร้างรถ ระบบความปลอดภัยและมลพิษ โดยจะต้องผ่านเกณฑ์ที่กำหนด การตรวจสอบดังกล่าวอาจจะทำโดยกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรมขนส่งทางบก ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการตรวจสอบรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ โดยไม่ต้องเป็นภาระแก่เจ้าของรถแท็กซี่ที่ต้องมารับผิดชอบในส่วนนี้


ทั้งนี้ จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ การสำรวจรถแท็กซี่ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 มีจำนวน 80,752 คัน แยกตามอายุ อายุไม่เกิน 3 ปีมีจำนวน 32,176 คัน อายุ 4-6 ปีมีจำนวน 23,206 คัน อายุ 7-9 ปีมีจำนวน 21,222 คัน และอายุ 10 - 20 ปีขึ้นไปมีจำนวน 4,148 คัน และจากผลการสำรวจอัตราการระบายมลพิษของรถแท็กซี่ ปี 2561 จำแนกตามอายุการใช้งาน อายุไม่เกิน 3 ปีค่าไฮโดรคาร์บอน (HC/ค่ามาตรฐานไม่เกิน 100 ppm) เฉลี่ย 53.9 ppm และค่าคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO/ ค่ามาตรฐานไม่เกิน 0.5 เปอร์เซ็นต์) เฉลี่ย 0.3 เปอร์เซ็นต์  อายุ 4-6 ปีค่าไฮโดรคาร์บอน เฉลี่ย 165.2 ppm และค่าคาร์บอนมอนอกไซด์ เฉลี่ย 0.31 % อายุ 7-9 ปี ค่าไฮโดรคาร์บอน เฉลี่ย 260.3 ppm และค่าคาร์บอนมอนอกไซด์ เฉลี่ย 1.31  เปอร์เซ็นต์ และจากการตรวจสอบจำนวนร้อยละของรถแท็กซี่ที่มีมลพิษทางอากาศเกินมาตรฐานจำแนกตามอายุการใช้งานปี 2561 คิดเป็นร้อยละในแต่ละกลุ่ม อายุไม่เกิน 3 ปีคิดเป็น 19.6เปอร์เซ็นต์ อายุ 4-6 ปีคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ อายุ 7-9 ปี คิดเป็น 72.7 เปอร์เซ็นต์