ศธ.แก้ไขระเบียบทรงผมนักเรียนไว้สั้นหรือยาวก็ได้

2020-11-06 19:00:31

ศธ.แก้ไขระเบียบทรงผมนักเรียนไว้สั้นหรือยาวก็ได้

Advertisement

ศธ.แก้ไขระเบียบว่าด้วยทรงผมนักเรียน จะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ ในกรณีนักเรียนทำทรงผมไม่ถูกต้องตามระเบียบ รร.ต้องชี้แจงให้ปรับปรุงแก้ไขก่อน ไม่สามารถกล้อนผมได้

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการว่า ที่ประชุมได้หารือถึงร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. .. และพิจารณาแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการแต่งเครื่องแบบนักเรียน สรุปว่า ให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563   3 ส่วน คือ 1.ในส่วนของบทนำและคำปรารภ ว่า ต้องการจะปรับแก้ระเบียบดังกล่าวให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมีส่วนร่วม รวมทั้งการป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและรองรับในความหลากหลาย 2. แก้ไข ระเบียบข้อที่ 4 ที่เดิมมีการแยกเรื่องการไว้ทรงผมของนักเรียนชาย และนักเรียนหญิงที่แตกต่างกัน จึงต้องมีปรับใหม่เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติทางเพศ ที่ระบุว่า นักเรียนจะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย 3.ให้ยกเลิกความในข้อ 7  ของระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ข้อ 7 ภายใต้บังคับข้อ 4 ให้สถานศึกษาวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนเอกชนแล้วแต่กรณี และผู้แทนของนักเรียนจำนวนเท่ากับจำนวนคณะกรรมการ สถานศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนเอกชนที่สถานศึกษานั้นพึงมี

ทั้งนี้ก่อนการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้สถานศึกษาดำเนินการ ดังนี้ 1.จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน ผู้แทนครู และบุคลากรทางการศึกษา ผู้แทนผู้ปกครองและผู้แทนชุมชนท้องถิ่น และเผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไว้ในบริเวณสถานศึกษา 2.ให้ยึดถือหลักความเหมาะสมในการพัฒนาบุคลิกภาพที่ดีของนักเรียน 3. ให้คำนึงถึงความเท่าเทียมระหว่างเพศของนักเรียน ทั้งนี้ให้นำแนวปฏิบัติเรื่องทรงผมนักเรียนดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมจัดพิมพ์แนวปฏิบัติเรื่องทรงผมแจกจ่ายให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบต่อไป ซึ่งการปรับในเรื่องนี้จะสร้างการมีส่วนร่วมให้การพิจารณาเรื่องการไว้ทรงผมของนักเรียนมากยิ่งขึ้น โรงเรียนไม่สามารถดำเนินการได้เอง และหากระเบียบที่เกี่ยวข้องกับทรงผมของโรงเรียนใดไม่สอดคล้องกับการปรับแก้ดังกล่าว ถือว่าระเบียบนั้นไม่สามารถบังคับใช้ได้

ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า ระเบียบที่มีการปรับแก้ในครั้งนี้สามารถไว้ผมหน้าม้าได้ หากโรงเรียนใดไม่ต้องการที่จะให้นักเรียนไว้ผมหน้าม้าก็จะต้องกำหนดออกมาเป็นระเบียบ โดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายดังที่กล่าวไป จากนี้ ศธ.จะจัดทำหนังสือซักซ้อมความเข้าใจ ใน 3 ประเด็นได้แก่ เรื่องการทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากที่สุด โดยส่งเสริมให้ตัวแทนสภานักเรียนเข้าร่วมสังเกตการณ์การออกระเบียบของคณะกรรมการโรงเรียน และจะมีการเสนอตัวอย่างของโรงเรียนที่มีการบริหารจัดการเรื่องนี้เป็นอย่างดีประเด็นสุดท้าย ในกรณีที่พบว่านักเรียนทำทรงผมไม่ถูกต้องตามระเบียบ โรงเรียนจะต้องดำเนินการชี้แจงและให้ปรับปรุงแก้ไขก่อน ไม่ให้ใช้วิธีลงโทษที่นอกเหนือจากระเบียบ ศธ. เช่น การกล้อนผมไม่สามารถทำได้ เป็นต้น ส่งไปให้โรงเรียนทั่วประเทศ

ดร.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องเครื่องแบบ ที่ประชุมมองว่ายังมีความจำเป็น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นการปฏิบัติของในหลายโรงเรียนที่ยังไม่ทราบว่า กฎหมายมีการเปิดช่องไว้ให้สามารถดำเนินการได้ คือ ระเบียบ ศธ. ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน  15 ที่ระบุว่าสถานศึกษาใด จะกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด นักศึกษาวิชาทหารหรือแต่งชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฏศิลป์ หรือชุดอื่นๆ แทนเครื่องแบบนักเรียนตามระเบียบนี้ ในวันใดให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนดโดยคำนึงถึงความประหยัดและความเหมาะสม และข้อ 16 ในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือมีเหตุผลพิเศษให้สถานศึกษาพิจารณายกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบนักเรียนได้ตามความเหมาะสม ดังนั้นที่ประชุมจึงเสนอให้มีการทำหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเรื่องดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนใช้ระเบียบนี้ในการกำหนดเรื่องการแต่งกายของนักเรียนอย่างยืดหยุ่น ไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ ทั้งนี้หากโรงเรียนต้องการออกระเบียบที่แตกต่างจากกฎหมายดังกล่าวก็จะต้องผ่านกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย โดยคณะกรรมการจะสรุปผลการประชุมเสนอให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาต่อไป