กมธ.พัฒนาการเมือง เชิญ "พุทธิพงษ์" แจง ปมปิดกั้น สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน เเละการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมวาระพิจารณาศึกษากรณีการสั่งให้ตรวจสอบเเละให้ระงับการออกอากาศรายการเเละสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ วอยซ์ ทีวี ( Voice TV ) ประชาไท ( Prachathai ) The Reporters และ THE STANDARD โดยเชิญพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม (ดีอีเอส) พล.ต.ท จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะผู้เเทนจากสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ เเละผู้แทนสื่อมวลชนเข้าชี้เเจง
นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลมีความต้องการปิดกั้นสิทธิเเละเสรีภาพของสื่อมวลชน ในการเเสดงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ชุมนุมที่ผ่านมา เเละส่งผลให้เห็นว่ารัฐเเละผู้มีอำนาจได้ลิดรอนสิทธิเเละเสรีภาพสื่อมวลชน คณะกรรมมาธิการจึงอยากหารือเพื่อหาเเนวทางปฏิบัติร่วมกันระหว่างภาครัฐกับสื่อมวลชนในการเสนอข่าวภายใต้ข้อจำกัดที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการปรับตัวต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นบทเรียนในการรับมือต่อสถานการรณ์ในอนาคตต่อไป
พล.ต.ท จารุวัฒน์ กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการออกคำสั่งที่ 4 เรื่องให้ตรวจสอบเเละระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะยุยงหรือปลุกปั่นทางการเมือง เนื่องจากมีรายงานจากหน่วยข่าวกรองรายงานว่า สื่อ 5 สำนักเสนอข่าวในแนวทางที่สร้างความแตกแยก ปั่นป่วน 4 กรณี คือ ชักจูง วุ่นวาย เเตกเเยก เเละเป็นข่าวลวง โดยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกคำสั่งตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคมไปพิจารณาเนื้อหาว่า มีการนำเสนอในช่องและรายการใดที่เป็นการละเมิดกฎหมายหรือไม่ เเละขอให้ดำเนินการตามกระบวนการศาล กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการออกคำสั่งให้ตรวจสอบ แต่ไม่ใช่คำสั่งปิดสื่อ ซึ่งเจ้าหน้าที่ดำเนินตามการกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการประกาศใช้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายเเรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นอำนาจควบคุมดูเเลการเผยเเพร่ข่าวสารของสื่อมวลชนตามข้อ 4 ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบ เเละตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจได้ โดยให้ปลัดกระทรวงดีอีเอสทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ต่อกรณีที่มีคำถามว่าการใช้อำนาจดังกล่าวขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น รัฐธรรมนูญมีหลายมาตรา ต้องดูให้ครบ ในสถานการณ์ปัจจุบันยังใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ยืนยันว่า เคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐบาลใช้อำนาจตามกระบวนการทางศาล ไม่ได้ใช้อำนาจของกระทรวง ในกรณีของ Voice TV มีหลักฐานยืนยันว่า ได้มีการกระทำความผิดที่ละเมิดต่อกฎหมายและก้าวล่วงสถาบัน ส่วนสำนักข่าวอื่นๆได้เตือนเเล้วและมีการลบเนื้อหาในเบื้องต้นหรือหยุดเผยเเพร่ เเต่กรณีของ Voice TV ไม่ได้หยุดเผยเเพร่ ยังคงดำเนินการต่อซึ่งขัดต่อคำสั่งภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งตามการดำเนินการของกระทรวง การประกาศว่าสื่อใดละเมิดต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จะกระทำก็ต่อเมื่อมีผู้ร้องทุกข์ เเละทุกครั้งที่ส่งเรื่องไปจะประกอบด้วยคำสั่งศาลทุกครั้ง ไม่มีการใช้อำนาจของกระทรวงในการดำเนินการ
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า รัฐจำเป็นต้องปกป้องสถาบัน กระทรวงต้องทำตามกฎหมาย หากมีการละเมิด คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจ ที่มีคำสั่งใช้ตามพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งกรณีของ Voice tv พบว่ามีเนื้อหาในเชิงยุยงปลุกปั่นและก้าวล่วงสถาบันเกินความเป็นจริง
“เราเคารพการตัดสินใจของบรรณาธิการ เพราะมีบุคคลที่รับผิดชอบเเละเสนอข่าว ในกรณี Voice TV เราดำเนินตามกฎหมาย เมื่อศาลอุทธรณ์สั่งให้ยกคำร้อง เราก็ไม่ได้ดำเนินการต่อ เราทำตามขั้นตอนของกฎหมาย กรณีที่เกิดขึ้นคือการดำเนินการในช่วงเฉพาะกิจภายใต้การประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเห็นด้วย หากคณะกรรมาธิการชุดนี้จะมีการจัดสัมนาเกี่ยวกับการปฏิบัติเเนวทางของสื่อมวลชน ตามกรอบเเละเเนวทางของกฎหมาย เพื่อสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับบทบาทเเละเสรีภาพของสื่อมวลชน และเชื่อมั่นในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการตามกลไกของรัฐสภา” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งของการชี้แจง ตัวแทนจาก Voice TV ได้ให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมีลักษณะของการคุกคามสื่อ กรณี Voice TV เป็นการถูกถอดสัญญาณเคเบิล ซึ่งผู้ให้บริการชี้เเจ้งกับช่องว่า ได้ถูกกดดันจากผู้อำนาจโดยใช้ถ้อยคำว่า “อย่าไปคบกับโจร” จึงมองว่า กรณีแบบนี้เป็นการคุกคามสื่อและเป็นสิ่งที่เจอมาโดยตลอด จึงควรหาเเนวทางการปฏิบัติเพื่อหาทางออกร่วมกันในอนาคต