เลือกตั้งสหรัฐฯ กับปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก

2020-11-04 04:25:01

เลือกตั้งสหรัฐฯ กับปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก

Advertisement

สำนักข่าวบีบีซี ไทยรายงาน เหตุใดการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

ในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต่างต้องพิจารณาถึงแนวนโยบายต่าง ๆ และผลงานที่ผ่านมา ของผู้สมัครทั้งสอง หนึ่งในนั้นคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายโจ ไบเดน มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันดังนี้





ทรัมป์ : ส่งเสริมธุรกิจพลังงานของสหรัฐฯ

ตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นายทรัมป์ปรับลดข้อบังคับความคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมหลายร้อยประการ รวมทั้งเรื่องขีดจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานและพาหนะ และกฎระเบียบคุ้มครองแหล่งน้ำสหรัฐฯ ตามสัญญาที่เคยหาเสียงไว้ในปี 2016



เขาให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงปารีส ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยบอกว่าข้อตกลงดังกล่าวทำให้สหรัฐฯ ต้องเสียเปรียบเพื่อผลประโยชน์ของประเทศอื่น ซึ่งกระบวนถอนตัวอย่างเป็นทางการจะเสร็จสมบูรณ์หลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้

และเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลทรัมป์ก็เพิ่งอนุมัติการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอะแลสกา ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์ห้ามมีการขุดเจาะมาหลายทศวรรษแล้ว


ไบเดน : กลับเข้าร่วมข้อตกลงระดับโลกอีกครั้ง



นายไบเดนบอกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยอันตรายที่มีอยู่จริง เขาบอกว่าจะสนับสนุนให้ทุกชาติในโลกเร่งมือจัดการเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยการเข้าร่วมข้อตกลงปารีสอีกครั้ง หลังจากที่นายทรัมป์ประกาศให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกมา ข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลให้สหรัฐฯ ต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 28% ภายในปี 2025

ถึงแม้ว่านายไบเดนจะไม่เห็นด้วยนักกับนโยบายพร้อมงบประมาณเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่นักการเมืองฝ่ายซ้ายในพรรคของเขาผลักดัน แต่เขาก็เสนอให้จัดงบรัฐบาลกลาง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อทำการวิจัยเรื่องเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะ 10 ปี ซึ่งบางส่วนก็ทับซ้อนกับแผนด้านเศรษฐกิจของเขา นอกจากนี้ เขาต้องการให้สหรัฐฯ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเหลือศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นพันธะสัญญาที่ประเทศอื่น 60 ประเทศทั่วโลกประกาศไว้เมื่อปีที่แล้ว แม้จีนและอินเดีย สองชาติที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับสูงจะยังไม่ให้คำมั่นเรื่องนี้

โดยรวมแล้วแผนการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมของเขาจึงเข้าคู่กันได้ดีกับแผนเศรษฐกิจที่ต้องการให้ผลิตพลังงานสะอาดมากขึ้น