กมธ.ตำรวจเรียก "ผบ.ตร. -ผบช.น." แจงมาตรการคุมม็อบ 5 พ.ย.
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่รัฐสภา นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตามที่ปรากฏว่ามีการชุมนุมของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในเขต กทม.จนเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความรุนแรงในเขตท้องที่ กม. ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2563 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ สามารถใช้มาตรการเร่งด่วนเข้าระงับยับยั้งการกระทำที่อาจนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อย กระทั่งเหตุการณ์อันเป็นเหตุให้ดำเนินการดังกล่าวได้คลี่คลายความรุนแรงและยุติลง ประกอบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถดำเนินการบังคับใช้มาตรการตามที่กำหนดในกฎหมายต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาได้ตามปกติแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงได้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ กทม. ทั้งนี้ ในระยะเวลาที่มีการชุมนุมของประชาชน ทั้งในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและช่วงเวลาปกติ เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นกำลังหลักและมีบทบาทสำคัญในการเข้าควบคุมสถานการณ์ให้สงบเรียบร้อย
โฆษก กมธ.ตำรวจ กล่าวต่อว่า กมธ.การตำรวจ มีความห่วงใยต่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแลและควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมภายใต้กรอบและมาตรการตามกฎหมาย จึงได้กำหนดจะพิจารณาเรื่องมาตรการและแนวปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อควบคุมการชุมนุมในพื้นที่ กทม. และพื้นที่อื่น ๆ โดยในวันที่ 5 พ.ย.นี้ เวลา 10.00น. จะเชิญ ผบ.ตร. ผบช.น. มาชี้แจงใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ขั้นตอนในการปฏิบัติตมที่กฎหมายกำหนดในการดูแล และควบคุมการชุมนุมสาธารณะ 2.มาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยกรณีเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม 3.ขั้นตอนการดำเนินการของจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อควบคุมสถานการณ์การชุมนุมในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ กทม. นอกจากนี้ก็จะมีการถามเรื่องการฉีดน้ำผสมสี รวมถึงเรื่องเบี้ยเลี้ยงของข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย ที่ปรากฏออกมาตามสื่อต่างๆ
“ทั้งนี้ กมธ.การตำรวจมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่มีม็อบชนม็อบ หรือมีการทำร้ายบุคคลที่ไปเดินในม็อบฝั่งตรงข้าม อาทิ สีเสื้อ หรือการเข้าไปแสดงสัญลักษณ์ จึงอยากถามว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้มีมาตรการเตรียมรับมือในเรื่องนี้อย่างไร เพราะถ้ามีการทำร้ายร่างกายแม้แต่คนเดียวก็เกรงว่าจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวทำให้สถานการณ์บานปลายได้ ซึ่งทางตำรวจ หรือสายสืบ ควรระวังจุดนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากเสี่ยงอันตรายมาก ” โฆษก กมธ.ตำรวจ กล่าว