“จุรินทร์”หนุน คกก.สมานฉันท์หาฉันทามติหาทางออกประเทศ

2020-11-03 10:28:39

“จุรินทร์”หนุน คกก.สมานฉันท์หาฉันทามติหาทางออกประเทศ

Advertisement

“จุรินทร์”หนุน คกก.สมานฉันท์หาฉันทามติหาทางออกประเทศ ขออย่าด่วนสรุปฝ่ายค้านไม่เข้าร่วม 

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)  รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ ก่อนการเข้าประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.ภูเก็ต ถึงแนวทางการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์โดยสถาบันพระปกเกล้าว่า ขณะนี้ต้องถือว่าประธานรัฐสภาจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ดูเหมือนว่า สถานบันพระปกเกล้าได้เสนอแนวทางมาแล้ว แต่ลึกๆ รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้นก็คงจะต้องรอดูว่าทั้ง 2 แบบ สุดท้าย ประธานรัฐสภา หรือคณะที่ได้เชิญมาพิจารณา จะให้มีรูปแบบออกมาอย่างไร หลักที่ตนเคยเสนอ 7 ฝ่ายนั้น ความจริงไม่ได้แปลว่าฝ่ายใดจะต้องมาก หรือฝ่ายใดจะต้องน้อยกว่า เพราะว่าทุกฝ่ายจะได้มาช่วยกันแสวงหาความเห็นพ้อง คือฉันทามติ ที่มีความเห็นตรงกัน ไม่ใช่ยกมือแข่งกันว่าเอาเสียงข้างมากไปบังคับเสียงข้างน้อย เพราะว่าลักษณะของการหาทางออกบางเรื่องมันใช้วิธีโหวตไม่ได้ จะต้องมีการพูดจา เจรจากัน และทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน อะไรที่เห็นตรงกันทั้งหมด อันนั้นมีคำตอบอยู่แล้วว่าควรที่จะให้ผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้มีหน้าที่รับไปปฏิบัติ ส่วนอะไรที่ยังไม่เห็นตรงกัน หรือยังขัดแย้งกันอยู่ ก็พูดคุยกันต่อไป บางครั้งมันอาจจะนำมาซึ่งความเห็นพ้องเพิ่มเติมก็ได้ อันนี้ก็เป็นแนวทางที่ตนเคยเสนอไว้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามนั้น 100 เปอร์เซนต์ เมื่อประธานรัฐสภาได้หารือทุกฝ่ายแล้วเห็นว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสมที่สุด สำหรับตนและพรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน เพราะเราก็อยากเห็นประเทศมีทางออกโดยเฉพาะต่อสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายก็เป็นห่วงอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันว่าควรจะเป็นอย่างไร

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนรายละเอียด เช่น เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญก็อาจจะเป็นหัวข้อหนึ่ง หรือประเด็นหนึ่งที่จะหยิบยกมาคุยกันได้ในส่วนนั้น หรือว่าแม้แต่ในเรื่องข่าวที่ปรากฎออกมาว่ามีผู้เสนอว่าควรทำประชามติ อันนั้นก็อาจจะเป็นหัวข้อหนึ่งที่อาจจะหยิบยกขึ้นในที่ประชุมได้ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าตนสนับสนุนให้เอาไปคุย แต่หมายความว่าคณะกรรมการชุดนั้นก็สามารถจะหยิบยกได้ กับอีกหลายเรื่องที่มีผู้เสนอว่าควรที่จะมีข้อสรุป หรือควรที่จะมีทางออก หรือมีคำตอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมด้วยจะเป็นอย่างไร จะทำให้เรื่องนี้เดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ รอนายจุรินทร์  กล่าวว่า คิดว่าถ้าจะดีที่สุดทุกฝ่ายควรจะได้เข้าร่วม เพื่อจะได้ถือว่าเป็นความเห็นพ้องต้องกันจริงๆ ควรจะเป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนั้น และตนไม่สามารถตอบล่วงหน้าได้ แล้วก็ไม่อยากให้ไปด่วนสรุปเสียก่อนว่า ฝ่ายโน้นจะไม่เข้าร่วม ฝ่ายนี้จะไม่เข้าร่วม เพราะว่าเท่าที่ตนฟัง ตนก็ยังมองในแง่บวกว่า ฝ่ายที่มีความเห็นและยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมนี้ ก็จะขอดูรูปแบบของคณะกรรมการที่ว่าก่อนว่าเป็นอย่างไร ประกอบด้วยใครบ้าง หรือประกอบด้วยฝ่ายใดบ้าง และขณะเดียวกันกฎเกณฑ์ กติกาในการดำเนินการเป็นอย่างไร ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาทุกคนก็ต้องขอดูก่อน อันนั้นไม่ได้เป็นเรื่องแปลก

เมื่อถามถึงคำถามประชามติ ที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอว่าไม่ให้มีการชุมนุม 2 ปี เพื่อให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะไปได้หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่มีความเห็น เพียงแต่ว่า ประชามตินั้นถ้าเป็นประชามติโดยรัฐธรรมนูญ จะไปถามเรื่องตัวบุคคลไม่ได้ ว่าเห็นด้วยกับคนนั้น หรือเห็นด้วยกับคนนี้ คนนั้นเป็นอย่างไร อย่างนี้คงทำไม่ได้ ยกเว้นว่าเป็นประชามติเรื่องที่เป็นเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ทำได้ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าลึกๆ จะเป็นอย่างไร แต่ถ้าสมมติว่ามีผู้ใดจะให้ความเห็นเรื่องนั้น หรือจะหยิบยกเรื่องประชามติเข้าไปคุยในกรรมการ ก็สามารถทำได้ ซึ่งคิดว่าก็อาจจะเป็นหัวข้อหนึ่งก็ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าจะสนับสนุนให้เอาเรื่องนี้เข้าไป แต่หมายความว่าโดยหลักการแล้วเวทีนี้จะกลายเป็นเวทีที่หลายฝ่ายก็เสนอความเห็นเข้าไป อะไรถ้าเห็นตรงกันก็ทำ เห็นไม่ตรงกันก็คุยกันต่อไปจนกว่าจะมีความเห็นตรงกันเพิ่มเติม แล้วก็อาจจะได้ข้อสรุปหลายข้อก็ได้

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านเสนอให้นายกฯ ต้องลาออกเท่านั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า อันนั้นก็เป็นความเห็นของฝ่ายหนึ่ง ก็ต้องไปคุยกันในนั้นถ้าเห็นพ้องกัน หรือเห็นต่างกันอย่างไร ก็เจรจากัน เมื่อถามว่า ข้อเสนอที่บอกว่าอยากให้มีเพียง 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่ต้องการให้นายกฯ ลาออก กับฝ่ายที่เห็นว่านายกฯ ต้องอยู่ต่อ มองว่าแค่นั้นจะจบปัญหาได้หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า อันนั้นก็เป็นข้อเสนอ ก็สามารถเสนอได้ และคิดว่าทุกข้อเสนอ หรือทุกความเห็น สามารถนำไปคุยกันในกรรมการ อยากให้ตั้งหลักอย่างนั้นก่อน เพราะว่าถ้าถามรายละเอียด ตนเองก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะไปสรุปให้ได้ว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ เพราะเราแค่เป็นส่วนหนึ่งถ้ามีการตั้งกรรมการ ถ้าได้รับเชิญ ถ้าไม่ได้รับเชิญก็พร้อมที่จะให้ความเห็นข้างนอก เหมือนกับที่เคยให้ความเห็นมา ด้วยความปรารถนาที่อยากเห็นบ้านเมืองมีทางออกจริงๆ และยอมรับกันทุกฝ่ายจริงๆ