ปตท. ร่วมภาคี ตระเวนทั่วประเทศติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์

2020-10-30 17:06:29

ปตท. ร่วมภาคี ตระเวนทั่วประเทศติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์

Advertisement

“โครงการระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์” เป็นความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานใหม่ๆ โดยเฉพาะพลังงานทดแทนที่เป็นกระแสของโลกในการยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม


ซึ่งมีทั้งหมด 6 พื้นที่หลักๆ ที่ ปตท. โดยมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน เข้าไปช่วยเหลือการติดตั้ง ได้แก่



1. อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี


มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน ได้ลงพื้นที่สำรวจ และติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าและเครื่องสูบน้ำจากเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาด 2.56 กิโลวัตต์ และชุดส่องไฟฟ้าแสงสว่างสำหรับครัวเรือน สำนักสงฆ์ รวมถึงอาคารอเนกประสงค์ของชุมชน จำนวน 30 ชุด ซึ่งสามารถประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับปั่นไฟ และประหยัดค่าไฟฟ้าสำหรับส่องสว่าง นอกจากนี้ยังได้เปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ชำรุด ให้กับกองร้อยทหารพราน ที่ 1405 อีกด้วย



------------------------------


2. เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จ.เชียงราย



มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน ได้ลงพื้นที่ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนภาคพื้นดิน ขนาดติดตั้ง 17kWp จำนวน 46 แผงให้กับเรือนจำชั่วคราวดอยฮาง ที่ประสบปัญหาค่าใช้จ่ายไฟฟ้าสูงถึง 6 หมื่นบาทต่อเดือน เนื่องจากเป็นเรือนจำแบบเปิด ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้โครงการกำลังใจ ในพระราชดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และอุดหนุนสินค้าจากผู้ต้องขัง เสมือนเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้บริการ นับเป็นการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นศูนย์เรียนรู้การใช้พลังงานทดแทนให้กับผู้ต้องขังได้นำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ ภายหลังได้รับการพ้นโทษ ให้กลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ
------------------------------





3. ชุมชนบ้านมะค่า ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา



ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ตั้งอยู่ในบริเวณวัดป่ามะค่า มีจำนวนชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จากน้ำประปาทั้งสิ้น 210 ครัวเรือน มีค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำประปาสูงถึงประมาณ 150,000 บาทต่อปี ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่าย ด้านพลังงานไฟฟ้าจากอุปกรณ์ประเภทมอเตอร์สูบน้ำและมอเตอร์กวนสารเคมี ทำให้ต้องแบกรับภาระจากค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำประปาชุมชนที่สูง ส่งผลให้ต้นทุนค่าน้ำประปาที่จัดเก็บในครัวเรือนสูงตามไปด้วย มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 32 แผง ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 10 กิโลวัตต์ ในรูปแบบ On-Grid Connection


------------------------------


4. โรงเรียนบ้านยุบตาเหน่ง ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง



โรงเรียนบ้านยุบตาเหน่ง เปิดการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษา มีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น หลอดไฟสำหรับแสงสว่าง คอมพิวเตอร์สำหรับเป็นสื่อการเรียนการสอน รวมถึงเครื่องสูบน้ำ ใช้สำหรับสูบน้ำใช้ภายในโรงเรียน ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าสูง โดยมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 41,987 บาทต่อปี




มูลนิธิพลังที่ยั่งยืนร่วมกับบุคคลภายนอกจำนวน 20 คน จากรายการคนมันพันธุ์อาสาดำเนินการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้า และระบบสูบน้ำภายในโรงเรียน ขนาด 5.12 กิโลวัตต์ (โซล่าเซลล์ 16 แผ่น) รวมทั้งร่วมทำกิจกรรมอาสาคัดแยกหมวดหนังสือสำหรับห้องสมุด และปรับแต่งภูมิทัศน์โดยรอบโรงเรียน



5. บ้านนาปอ อ.นาแห้ว จ.เลย


ติดตั้งระบบตะบันน้ำ นำน้ำจากลำธารที่มีน้ำไหลตลอดปี ไปเก็บไว้ในถังเก็บน้ำบนที่สูง โดยสามารถสูบน้ำได้มากถึง 17,000 ลิตรต่อวัน และยังได้ติดตั้งระบบสูบน้ำจากเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาด 5.2 กิโลวัตต์ สูบน้ำผ่านระบบท่อขึ้นไปเก็บไว้ในถังน้ำบนยอดเขา เพื่อใช้ในการเกษตรได้ตลอดปี รวมถึงยังได้ติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 1.4 กิโลวัตต์ สำหรับไฟฟ้าส่องสว่างช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 30,000 บาทต่อปี ให้แก่วัด และ ศาสนสถาน นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งระบบสเปรย์หมอกพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อการเกษตรในโรงเรือนเพาะกล้าไม้ของชุมชนอีกด้วย
------------------------------


6. กลุ่มส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง



โดย กลุ่มส่งเสริมผลิตภัณฑ์ข้าวชุมชน ดังกล่าวดำเนินการแปรรูปข้าวอินทรีย์จากข้าวเปลือกเป็นข้าวสารให้กับเกษตรกรทั้งภายใน ต.หนองตะพาน และตำบลใกล้เคียง โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ส่งผลให้เครื่องสีข้าวของโรงสีข้าวชุมชนมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณปีละ 16,000 บาท

มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน จึงได้สนับสนุนติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิตมากกว่า 5 กิโลวัตต์ สำหรับเครื่องสีข้าว ในรูปแบบ On-Grid Connection สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมเดือนละประมาณ 2,000- 3,000 บาท เหลือเพียงเดือนละประมาณ 200-300 บาท นับเป็นต้นแบบการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับชุมชนอย่างรู้คุณค่าและเกิดความยั่งยืน



“โครงการระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์” ดังกล่าวถือเป็นการตอกย้ำภาพความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. ในการนำจุดแข็งที่เป็น Core Competency ของแต่ละบริษัทมาต่อยอดร่วมกัน เพื่อสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่ประเทศในวงกว้างต่อไป