"หมอหญิง"ชี้ทางป้องกันไวรัส"อาร์เอสวี"สุดอันตราย

2020-10-30 14:45:58

"หมอหญิง"ชี้ทางป้องกันไวรัส"อาร์เอสวี"สุดอันตราย

Advertisement

"หมอหญิง" แนะวิธิป้องกันไวรัส "อาร์เอสวี" สุดอันตราย เตือนงด กอด-หอม บุตรหลานในช่วงนี้

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. จากกรณีมีกระแสข่าวประชาชนติดเชื้อ "อาร์เอสวี" กันเป็นจำนวนมาก โดย อาร์เอสวี ถือเป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ และผ่านทางการสัมผัสจนก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.ณัชชา สากระจาย กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินหายใจเด็ก รพ.พริ้นซ์ อุบลราชธานี กล่าวว่า เชื้อไวรัส อาร์เอสวี จะคล้ายไวรัสโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่วิธีการที่ดีที่สุด คือ การป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อและหลีกเลี่ยงการสัมผัส สำหรับผู้ที่ติดเชื้ออาร์เอสวี จะปล่อยเชื้อไวรัสออกจากสารคัดหลั่งประมาณ 2 สัปดาห์ โดยผู้ที่ได้รับเชื้ออาร์เอสวี เข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัว 3-5 วัน ก่อนเริ่มแสดงอาการของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมีอาการคล้ายกับเป็นไข้หวัดธรรมดา หากเกิดในเด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันต่ำ อาจทำให้มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุประมาณ 3-5 ขวบ






พญ.ณัชชา ยังจำแนกอาการต่างๆ ตามช่วงวัยของเด็กเล็กหากได้รับเชื้ออาร์เอสวี ประกอบด้วย 1.กรณีทารกคลอดก่อนกำหนดและทารกในช่วงเดือนแรก จะมีอาการดูดนมน้อยลง และมีอาการซึม บางรายมีอาการหยุดหายใจ บางรายอาจมีอาการคล้ายการติดเชื้อในกระแสเลือด
2.กรณีเด็กช่วง 2 ขวบปีแรกมักเริ่มจากอาการมีไข้ต่ำ มีน้ำมูก และจาม 1-3 วัน ต่อมาเริ่มมีอาการไอ หายใจเร็วขึ้น หายใจลำบาก เด็กบางรายมีการติดเชื้อของระบบหายใจส่วนล่าง ได้แก่ ภาวะหลอดลมฝอย หรือหลอดลมส่วนปลายอักเสบ หากเชื้อลุกลามไปยังถุงลมจะเกิดภาวะปอดอักเสบได้
3 .เด็กอายุ 2-5 ปี นอกจากเชื้ออาร์เอสวี จะทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างแล้ว ยังทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน และเกิดอาการอักเสบของกล่องเสียงและทางเดินหายใจส่วนบน




พญ.ณัชชา ยังกล่าวถึงการวินิจฉัยผู้ติดเชื้ออาร์เอสวี จะใช้วิธี 1.การตรวจทางไวรัสวิทยา ได้แก่ วิธีตรวจโดยการป้ายจมูก, การเพาะเชื้อ การภาพถ่ายรังสีปอด, ส่วนการรักษา แพทย์จะรักษาตามอาการ คือ การให้ยาลดไข้ ให้ยาแก้ไอ ขับเสมหะ ยาลดน้ำมูก โดยเน้นการดูแลระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้ ส่วนการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนในเด็กวัย 6-24 เดือนอยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนา เพราะขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค และวิธีที่ดีที่สุด คือ การป้องกันลูกน้อยด้วยการให้นมแม่ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรคติดไวรัสอาร์เอสวี ชนิดรุนแรงในช่วงวัยทารกได้ นอกจากนี้ภูมิคุ้มกันจากมารดาที่ส่งผ่านมาทางรก จะช่วยลดการติดเชื้ออาร์เอสวี ช่วงที่ทารกมีอายุตั้งแต่ 4 เดือนแรกได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ปกครองที่มีลูกป่วย ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ เพื่อป้องกันการไอจาม ซึ่งจะแพร่เชื้อไปให้รอบข้าง ถ้าลูกเริ่มเข้าเนอสเซอรี่หรือโรงเรียน ผู้ปกครองควรให้ลูกหยุดเรียนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์จนกว่าจะหายเป็นปกติ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการจูบ หรือหอมเด็กเล็ก เพราะอาจเป็นการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งควรสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันหากมีการสัมผัสผู้ป่วย และไม่ควรนำบุตรหลานไปในที่ชุมชนสถานที่ที่มีคนเยอะ ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีได้