“วิษณุ”แจงไทม์ไลน์แก้ รธน. จ่อชงร่างประชามติเข้ารัฐสภาเดือน พ.ย.
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 26 ต.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน ขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมมีอยู่ประมาณ 6-7 ข้อ เช่น เรียกร้องอิสรภาพให้ฮ่องกง เรียกร้องขอให้เปิดรัฐสภาสมัยวิสามัญซึ่งก็ได้เปิดแล้ว นอกจากนี้ยังขอให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และขอให้เร่งดำเนินการเแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว โดย 6 ฉบับ ที่ค้างอยู่ ความจริงก็ควรจะพิจารณาตั้งแต่วันที่ 1-2 พ.ย. แต่ก็ต้องเข้าใจว่าร่างฉบับไอลอว์อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อ เสร็จเมื่อไหร่ก็ขึ้นอยู่ที่ความกรุณาของประธานรัฐสภาจะสั่งบรรจุวาระพิจารณาในคราวเดียวกันหรือไม่ก็แล้วแต่
“เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ก่อนประชุม ครม. นายกฯได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค และรัฐมนตรี 10 กว่าคน หารือว่าร่างรัฐธรรมนูญควรเดินหน้าต่อไปโดยเร็ว มีคนถามว่าจะส่งสัญญาณไปถึงส.ว. และฝ่ายค้านอย่างไรได้บ้าง นายกก็บอกว่าสัญญาณก็ไปอยู่ดี แต่ถ้าจะเรียกหรือเชิญคงไม่เหมาะสม และความจริงสื่อมวลชนหลายที่เสนอไปแล้วว่า นายกฯได้ส่งสัญญาณอย่างไรไปยังพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ นายกได้ให้ผมทำไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าตามกฎหมายจะเดินอย่างไร นับแต่ที่เปิดสภาสมัยที่สอง ส่วนเหตุแทรกซ้อนไม่อาจคาดคิด เมื่อเปิดสมัยประชุมในเดือนพ.ย. ก็รับหลักการวาระที่หนึ่ง ตั้ง กมธ. ส่วนสภาจะตั้งกมธ.เต็มสภาหรือไม่ก็แล้วแต่” นายวิษณุ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนายวิษณุกำลังชี้แจง นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงให้นายวิษณุ ถอนคำพูดที่ระบุว่าผู้ชุมนุมมีการเรียกร้องอิสระภาพให้ฮ่องกง เพราะไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ร้ายผู้ชุมนุมโดยขอให้ถอนคำพูด พร้อมตำหนินายวิษณุส่งผลให้นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประท้วงว่า นางอมรัตน์ออกมาเรียกร้องเหมือนกับเป็นหัวหน้าม็อบ จึงทำให้ นายพรเพชร รองประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานการประชุม ขอให้นายชัยวุฒิถอน คำพูด ซึ่งนายชัยวุฒิก็ยอมถอน แต่ขอเปลี่ยนเป็น “ผู้ควบคุมม็อบที่อยู่บนหลังคารถ” พร้อมระบุว่าตัวเองมีคลิปยืนยันหากประธานจะยอมให้เปิด แต่นางอมรัตน์ไม่ยินยอม จะให้นายชัยวุฒิ ต้องถอนคำพูดอีกครั้ง แต่นายพรเพชร พยายามไกล่เกลี่ยจนสำเร็จ และให้นายวิษณุ ชี้แจงต่อจนจบ
จากนั้น นายวิษณุ ได้ชี้แจงต่อถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อว่า เมื่อตั้ง กมธ. อาจตั้งเต็มสภาเพื่อเป็นทางออกหนึ่ง ซึ่ง กมธ.พิจารณาไม่เกิน45 คน ประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว.เท่านั้น ไม่มีตัวแทนของรัฐบาลหรือ ครม. เสร็จแล้วต้องทิ้งไว้ 15 วัน ก็คงจะในช่วงเดือนธ.ค. เชื่อว่า 3 วาระก็น่าจะเสร็จสิ้นได้ แต่ยังประกาศใช้ไม่ได้อยู่ดี เพราะต้องมีการออกเสียงประชามติ โดยต้องเป็นไปตามที่พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงประชามติ โดยร่างพ.ร.บ.ที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ร่าง และส่งมาเมื่อเช้านี้ ตนทราบว่ามีการตรวจเสร็จสิ้นทุกมาตราแล้ว น่าจะส่งเข้าสภาฯได้ในสัปดาห์หน้า โดยจะขอพิจารณาร่วมสองสภา ซึ่งจะเร่งรัดตัดขั้นตอนไปได้ คงใช้เวลาช่วงเดือน พ.ย.นี้ คู่ขนานไปกับพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นนำร่างกฎหมายออกเสียงที่สภาเห็นชอบขึ้นทูลเกล้าฯ ทรงมีเวลาพิจารณา 90 วัน แล้วแต่พระมหากรุณาโปรดเกล้าลงมาเมื่อไหร่ จากนั้นจึงเอาร่างรัฐธรรมนูญไปสู่การทำประชามติ แต่หากมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ก็ต้องดำเนินการคัดเลือกแล้ว รูปแบบจะอย่างไรก็แล้วแต่ กมธ.จะพิจารณาในวาระ2
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอ 3 ข้อ ที่ยังไม่มีการดำเนินการ คือ การลาออกของนายกฯ การยุบสภา และการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งการปฏิรูปสถาบันรัฐบาลไม่ทราบและไม่เข้าใจจริงๆว่าหมายถึงอะไร จึงอยากฟังการอภิปรายของสมาชิกให้ชัดเจน ส่วนการยุบสภานั้นมีการพิจารณาเหมือนกัน แต่สภามีความผิดอะไรถึงจะยุบ เพราะจะต้องเกิดจากความขัดแย้งอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาถึงจะยุบสภาได้ แต่ถ้าเป็นความประสงค์และเจตนาร่วมจากหลายฝ่าย นายกรัฐมนตรีคงต้องหารือผู้เกี่ยวข้องต่อไป
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นนายกรัฐมนตรีลาออกทางฝ่ายกฎหมายได้ทำข้อเสนอมาว่าหากลาออกแล้วจะหานายกรัฐมนตรัคนใหม่จากขั้นตอนใด ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 มีเงื่อนไขว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องมาจากรายชื่อที่เสนอเอาไว้ตั้งแต่ครั้งเลือกตั้ง ขณะนี้มีอยู่5 คน จากเดิม7 คนโดยตัดนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และพล.อ.ประยุทธ์ ออกไป แต่คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภาที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเมื่อเช้าประธานได้รายงานว่าที่ประชุมมีสิทธิ์ออกเสียงได้ 732 คน ซึ่งกึ่งหนึ่ง ก็คือ 366 เสียง ต่อให้ส.ว.งดออกเสียงทั้งหมดตามที่หลายคนเรียกร้อง ก็ต้องหากันมาให้ได้ 366 เสียง หากไม่ได้ก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะเป็นข้อกฎหมายว่า หากถึงทางตันแล้วจะทำอย่างไร
“หลายคนเสนอว่าขอให้พรรคพลังประชารัฐเทเสียงให้พรรคร่วมค้านยกใครขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องคำนึงเรื่องสิทธิของแต่ละฝ่ายด้วย เพราะนายกรัฐมนตรีก็ได้รับเสียงเรียกร้องเหมือนกันว่าอย่าออก ก็ต้องพิจารณาว่าจะอย่างไรต่อไป ส่วนอีกข้อเสนอที่ทั้ง 3 ฝ่ายเสนอมาในที่ประชุม คือการทำประชามติถามประชาชน ก็ต้องถามว่าจะถามอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 บัญญัติห้ามทำประชามติออกเสียงเรื่องตัวบุคคล แต่หากจะหาช่องทางอื่นที่แยบคายและแนบเนียนก็น่าจะพิจารณาได้ โดยนายกฯก็คงจะมีการนำเรียนต่อประธานสภาฯในตอนท้ายว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร” นายวิษณุ กล่าว